สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ครูภูมิปัญญาไทยกับการจัดการสิ่งแวดล้อม

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากครูอภินันท์ หมัดหลี ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗  ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “ครูภูมิปัญญาไทยกับการจัดการสิ่งแวดล้อม”
 
ทราบมาว่าครูอภินันท์ หมัดหลี ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ก่อนอื่นขอให้ครูอภินันท์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ฯ 
       
ครูอภินันท์ หมัดหลี :     ขอย้อนไปเล่าถึงวัยเด็ก ครูเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ในช่วงวัยเด็กนั้นธรรมชาติยังมีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่เมื่อผ่านไป ๑๐ ปี เริ่มเกิดความรู้สึกว่า สภาพแวดล้อมโดยรอบเปลี่ยนแปลงไป ป่าไม้ถูกทำลาย ดินเสื่อมโทรม แหล่งน้ำแห้งขอด ปลามีจำนวนน้อยลง ครูเริ่มคิดอยากจะฟื้นฟูธรรมชาติ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ มีญาติชักชวนให้เข้าไปทำงานในอำเภอหาดใหญ่ ระหว่างที่ตั้งใจทำงานหวังสร้างฐานะ ได้ตระหนักว่าชีวิตในเมืองต้องเผชิญกับปัญหารถติด ขยะล้นเมือง จนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วประเทศ จึงย้ายกลับไปอยู่ที่อำเภอรัตภูมิเพื่อเรียนรู้การเกษตรกับคุณพ่อ หรือป๊ะหรน หมัดหลี ซึ่งเป็นครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ ๒ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในช่วงแรกคุณพ่อบอกให้ไปหาพืชที่ไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปพบว่าพืชทุกชนิดทุกสายพันธุ์ล้วนมีประโยชน์ ทั้งเป็นไม้ดอก ไม้ผล ผัก และสมุนไพร สิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้หันมาทำการเกษตรและจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ครูอภินันท์ใช้หลักคิดหรือแนวคิดใดในการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูก
       
ครูอภินันท์ หมัดหลี :    
ครูทำการเกษตรด้วยหลักคิด “เกษตรธาตุ ๔” โดยประยุกต์จากแนวคิดเรื่องธรรมชาติที่ประกอบด้วย ธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ หลักคิดดังกล่าวจึงไม่จำกัดเฉพาะการเกษตร แต่ยังรวมถึงจิตวิญญาณและการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธาตุ ๔ เช่นเดียวกับการเพาะปลูก จากเดิมที่มีความเชื่อว่าไม่สามารถนำเมล็ดพืชมาปลูกรวมกันในหลุมเดียวได้ เพราะจะทำให้พืชแย่งอาหารและไม่เติบโต แต่เมื่อใช้หลักคิดดังกล่าวจะทราบว่า พืชที่มีธาตุแตกต่างกัน เช่น ทุเรียนเป็นพืชธาตุไฟ มังคุดเป็นพืชธาตุน้ำ และลองกองเป็นพืชธาตุลม ซึ่งหากนำมาปลูกในหลุมเดียวกันพืชจะสามารถเจริญเติบโตได้ 
 
เมื่อเรียนรู้การสร้างสมดุลทางธรรมชาติจึงได้นำมาต่อยอดเป็นการสร้าง “สังคมพืช ๑๒ ชั้น” ได้แก่ ๑) พืชน้ำ ๒) พืชหัว ๓) พืชผิวดิน ๔) พืชหน้าดิน ๕) พืชคลุมดิน ๖) พืชผักกินยอด ๗) พืชเส้นใย ๘) พืชยืนต้นขนาดเล็ก ๙) พืชยืนต้นขนาดกลาง ๑๐) พืชยืนต้นขนาดใหญ่ ๑๑) พืชพึ่งเพื่อน และ ๑๒) พืชเถาวัลย์ การปลูกพืชแบบผสมผสานเช่นนี้เป็นการจัดระบบให้พืชอยู่ร่วมกันได้เป็นสังคมสอดคล้องกับธรรมชาติ
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ครูอภินันท์มีกลวิธีในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนอย่างไร
       
ครูอภินันท์ หมัดหลี :     ศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทยเกษตรธรรมชาติธาตุ ๔ มีกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ด้วยหลักสูตร ๙ องค์ความรู้ ได้แก่ ๑) การจักสาน ๒) การอนุรักษ์ผึ้งป่า ๓) การอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า และผลผลิต ๔) การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ๕) สมุนไพรหมอพื้นบ้าน ๖) การทำปุ๋ยและอาหารพืช ๗) ด้านการจัดการป่าชุมชน ๘) พฤกษศาสตร์ชุมชน เพื่อส่งเสริมการปลูกต้นไม้บริเวณบ้าน และ ๙) ออมทรัพย์และสวัสดิการ โดยภายในศูนย์การเรียนรู้ ฯ มีแปลงต้นแบบ สวนเกษตรธาตุ ๔ และสวนสังคมพืช ๑๒ ชั้น นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมให้เกษตรกร จัดค่ายเยาวชน การเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติ รวมถึงจัดการประกวดพันธุกรรมพืช โดยเฉพาะทุเรียนพื้นบ้านซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี กิจกรรมเหล่านี้ผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้ทั้งในระยะเวลา ๓ วัน ๒ คืน หรือเรียนรู้ภายใน ๑ วัน โดยเน้นให้สามารถเข้าใจหลักคิดเบื้องต้นและนำกลับไปปฏิบัติที่ชุมชนของตนได้ทันที
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ตามที่ทราบกันดีว่าภาคใต้นิยมปลูกยางพารา ครูอภินันท์มีวิธีการเผยแพร่แนวคิดเกษตรธาตุ ๔ เพื่อให้คนในพื้นที่เห็นความสำคัญของการปลูกพืชแบบผสมผสานได้อย่างไร 
       
ครูอภินันท์ หมัดหลี :     การปลูกพืชมีทั้งแบบเชิงเดี่ยวและแบบผสมผสาน แต่ปัจจุบันนี้การปลูกพืชเชิงเดี่ยวกำลังประสบปัญหา โดยเฉพาะเรื่องยางพารามีราคาตกต่ำ จึงมีเกษตรกรหลายคนเริ่มสนใจศึกษาแนวคิดปลูกพืชแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับเกษตรธาตุ ๔ หรือ สังคมพืช ๑๒ ชั้น ทำให้เริ่มมีการทำการเกษตรเพิ่มเติมในสวนยาพารา อาทิ การปลูกผักเหลียง การเลี้ยงผึ้ง และชันโรง หรือ ผึ้งอุง นอกจากการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรแล้ว ยังได้มีการรณรงค์ให้ชุมชนเห็นประโยชน์ของการปลูกพืชแบบผสมผสานที่แม้จะไม่ได้สร้างรายได้จำนวนมากในครั้งเดียว แต่สามารถลดต้นทุนและมีรายได้หมุนเวียนที่เลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
       
ผู้ดำเนินรายการ :     การปลูกพืชแบบผสมผสานด้วยหลักคิดเกษตรธาตุ ๔ สร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เพาะปลูกของครูอย่างไร
       
ครูอภินันท์ หมัดหลี :      ครูถือว่าเป็นคนหนึ่งที่ได้รับสิ่งดีๆ อย่างไม่คาดคิดมาก่อน ตั้งแต่กลับมาทำการเกษตรแบบผสมผสานด้วยหลักคิดเกษตรธาตุ ๔ นอกจากครูจะมีสวนป่าเป็นของตัวเอง ครูยังมีสวนสัตว์ มีวังมัจฉา หรือ บึงที่มีปลาจำนวนมากให้ครอบครัวสามารถนำมาใช้บริโภค พอถึงมื้ออาหาร ครูหยิบตะกร้าเดินเข้าห้างสรรพสินค้าของตัวเองซึ่งก็คือ สวนป่าที่มีพืชผัดสดปลอดสารพิษนานาชนิดสำหรับใช้ประกอบอาหาร ยามที่ป่วยไข้ไม่สบาย สวนป่าก็กลายเป็นโรงพยาบาลที่มีสมุนไพรหลายสรรพคุณมาใช้รักษาอาการเบื้องต้น การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทยเกษตรธรรมชาติธาตุ ๔ นั้นเปรียบเหมือนโรงเรียนที่มีผู้สนใจเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชนกันอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ครูภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก  
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
ตามที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้กรุงเทพฯ กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีค่าเกินมาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อยากให้ครูอภินันท์แสดงความคิดเห็นว่า สังคมไทยควรเปลี่ยนทัศนคติอย่างไร เพื่อให้เกิดจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
       
ครูอภินันท์ หมัดหลี :    
 ประเทศไทยมีต้นแบบการเกษตรที่ดีในหลายพื้นที่ แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีพื้นที่เพาะปลูกน้อย และผู้คนมักอาศัยอยู่บนตึกสูงที่มีบริเวณห้องไม่กว้างนัก แต่หากทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ และลงมือทำทันทีด้วยการปลูกต้นไม้คนละต้นไว้หน้าบ้าน  หรือปลูกสวนผักคนเมือง ครูเชื่อว่าจะสามารถสร้างจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน เช่นในขณะนี้ที่กรุงเทพฯ กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นละออง หากทุกคนร่วมกันลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง ลดขยะ และเพิ่มการใช้พาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแทนการเผาไหม้ด้วยน้ำมัน จะทำให้สภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯ ดีขึ้น ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการฟื้นฟูธรรมชาติ ก่อนที่สิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นมลพิษจนทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างเช่นในเวลานี้ 
 
ตลอดระยะเวลา ๕๘ ปีที่ประเทศไทยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาถึง ๑๒ ฉบับ ควรมีการทบทวนว่า แผนดังกล่าวทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นจริงหรือไม่ หากไม่ใช่ก็ควรปรับเปลี่ยนแนวทาง โดยยึดนโยบาย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของรัฐบาล ให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ครูอภินันท์ หมัดหลี ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
ครูอภินันท์ หมัดหลี :    
การทำเกษตรธาตุ ๔ เป็นส่วนหนึ่งของหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ทำอย่างมีความสุข สนุก สบาย เริ่มจากการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนหากมีเหลือจึงนำไปขาย ทำให้ชีวิตของมนุษย์เรามีความสุข ไม่ต้องดิ้นรน ไม่วุ่นวาย ไม่ยุ่งยาก การอยู่ในชนบท ตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงไก่ เสียงนก เสียงน้ำ เป็นเสียงธรรมชาติ จึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาปรับชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติและเรียนรู้การเกษตรเพื่อสร้างสมดุลและเพิ่มความสุข
 
ผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยหรือร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูอภินันท์ หมัดหลี ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      *****************************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด