สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ครูภูมิปัญญาไทยกับการปฏิรูปการศึกษา

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา ร่วมสนทนาประเด็น “ครูภูมิปัญญาไทยกับการปฏิรูปการศึกษา”
 
ทราบมาว่าครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา ได้รับการยกย่องเป็น ครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม รุ่นที่ ๓ จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมครูภูมิปัญญาไทย ก่อนอื่นขอให้ครูกฤษณ์ เล่าถึงโครงการและการคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย
       
ครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา :    
ครูภูมิปัญญาไทยเกิดขึ้นครั้งแรกตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยคณะรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาที่กำลังจะเลือนหายไปจากสังคมไทย เนื่องจากการศึกษาในปัจจุบันเป็นการจัดการศึกษาตามแนวทางของชาติตะวันตก สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะหน่วยงานที่จัดทำนโยบายและแผนการศึกษาของชาติ ได้จัดทำแผนส่งเสริมภูมิปัญญาไทย จำนวน ๔ แผน ได้แก่ ๑) การส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา ๒) การส่งเสริมและสำรวจวิจัยภูมิปัญญาไทย ๓) การยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย และ ๔) การบริหารจัดการนำภูมิปัญญาไทยเข้าสู่ระบบการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งปัจจุบัน สกศ. ได้ดำเนินการคัดเลือกและเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย จากทั่วประเทศ จำนวน ๕๐๓ คน รวม ๙ รุ่น ซึ่งแบ่งออกเป็น ๙ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านเกษตรกรรม ๒) ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ๓) ด้านการแพทย์แผนไทย ๔) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๕) ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ๖) ด้านศิลปกรรม ๗) ด้านภาษาและวรรณกรรม ๘) ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และ ๙) ด้านโภชนาการ 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีแนวทางในการส่งเสริมโครงการดังกล่าวอย่างไร 
       
ครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ดำเนินการส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ของครูภูมิปัญญาไทย ทั้งที่เป็นบ้านพักของครูภูมิปัญญาไทยหรือหน่วยงานราชการในชุมชนใกล้เคียง เพื่อใช้เผยแพร่องค์ความรู้ทั้ง ๙ ด้าน โดย สกศ. จะมีบทบาทด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการให้ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวสามารถพึ่งตนเองได้ รวมถึงส่งเสริมเป็นที่รู้จักของสาธารณชน เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาและการถ่ายทอดแบบอย่างของครูที่มีคุณธรรมและจริยธรรมสู่สังคม
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
 
ในฐานะที่ครูกฤษณ์ได้รับการยกย่องเป็น ครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม รุ่นที่ ๓ ได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้หรือเผยแพร่ภูมิปัญญาในสถานศึกษาอย่างไร 
       
ครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา :
    ผมสอนเรื่องศิลปะการต่อสู้ของไทย อาทิ มวยไทย และกระบี่กระบอง มาตลอดระยะเวลา ๔๕ ปี จึงได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ศิลปศาสตร์การต่อสู้ประจำชาติไทย ค่ายพระยาตาก ที่วัดศรีนวลธรรมวิมล (หลวงพ่อเสือดำ) สำนักงานเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร โดยมีเด็กและผู้ปกครองมาเรียนร่วมกันในทุกวันอาทิตย์ เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ส่วนในช่วงวันจันทร์ – วันศุกร์ ได้นำภูมิปัญญาไทยไปสอนในสถานศึกษา ตั้งแต่ประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา และหน่วยความมั่นคงของชาติ 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ขอให้ครูกฤษณ์อธิบายถึงที่มาและความสำคัญของการเรียนวิชาศิลปะการต่อสู้อย่างเช่นกระบี่กระบองในรายวิชาพลศึกษา
       
ครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา :     การสอนเรื่องกระบี่กระบองต้องเริ่มจากให้เด็กทราบถึงที่มาและความสำคัญ คือ การรักษาภูมิปัญญาของชาติ การสอนกระบี่กระบองจึงเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เด็กรู้จักศิลปะการป้องกันตัวจากภัยอันตรายในสังคม ไม่ใช่การใช้อาวุธหรือทะเลาะเบาะแว้ง แต่เป็นการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาไทย ศิลปะการต่อสู้เป็นเกียรติของชาติ เป็นมรดกของแผ่นดิน เราต้องช่วยกันรักษา ทั่วโลกยกย่องวิถีนักสู้บูชิโดหรือซามูไรของญี่ปุ่นว่าเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เก่งกาจ แต่ญี่ปุ่นกลับมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ยกย่องวิถีศิลปะการต่อสู้ของยุวชนไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยกองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่อ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสู้รบกับกองทัพยุวชนไทย สรุปว่ามีทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตมากกว่า ๔๐๐ นาย ขณะที่กองทัพยุวชนไทย เสียชีวิต ๔๐ นาย ศิลปะการสู้รบของไทยจึงควรค่าแก่การยกย่องและถ่ายทอดให้เด็กไทยได้เรียนรู้และร่วมภาคภูมิใจกับภูมิปัญญาไทยที่ช่วยรักษาเอกราชของชาติได้
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ครูกฤษณ์ได้นำองค์ความรู้ด้านศิลปะการต่อสู้มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อปฏิรูปการศึกษาของประเทศอย่างไร  
       
ครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา :    
การสอนศิลปะการต่อสู้เป็นสื่อในการสอนความรู้และคุณธรรมให้กับเด็กไทย เริ่มจากการใช้จิตวิทยาในการสอน คือ การแทรกกุศโลบายว่า หากเด็กต้องการแคล้วคลาดปลอดภัยในการต่อสู้จะต้องรู้จักมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ซึ่งเป็นสุดยอดของคุณธรรมที่รักษาคุ้มครองตน ไม่ใช่การงมงายในไสยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังสอนเรื่องประวัติศาสตร์ให้เด็กไทยซึบซับตัวอย่างบุคคลสำคัญที่ทำหน้าที่ปกป้องรักษาชาติ รวมถึงประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสอน เช่นสอนให้เด็กรู้จักกราบเท้าพ่อแม่ จะแทรกความรู้ว่า เมื่อเราทำความดี เราจะอิ่มเอมใจและมีความสุข ทำให้สมองหลั่งสารอะดรีนาลีน  เช่นเดียวกับการที่ทหารร่วมกันดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาก่อนออกรบ ทำให้มีความเชื่อมั่นและฮึกเฮิม สมองจึงหลั่งสารเฟตามีน เกิดความฮึกเหิมในการสู้รบเสียสละเพื่อชาติได้ 
 
อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้าสู่ยุคประเทศไทย ๔.๐ แต่ครูทุกคนจะต้องตระหนักถึง การเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็ก อย่างเช่นหลักคำสอนเรื่อง “๕ ต้นโค่นไม่ได้” ได้แก่ ๑) ต้นไม้ ส่งเสริมให้เด็กรู้รักษ์ธรรมชาติ ๒) ต้นน้ำ สอนให้เด็กรู้จักใช้น้ำอย่างประหยัด ๓) ต้นคิด สอนให้เด็กยึดมั่นในการคิดดี พูดดี ทำดี ๔) ต้นแบบ ทั้งครูและพ่อแม่ต้องร่วมกันเป็นต้นแบบที่ดีให้เด็ก เพราะแบบอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน และ ๕) ต้นทุน ทุกวันนี้เราเน้นให้เด็กเก่งเทคโนโลยี แต่ต้องไม่ลืมที่จะสอนให้เด็กเป็นคนดี มีระเบียบวินัย และภูมิใจในชาติ ซึ่งเชื่อว่า การถ่ายทอดภูมิปัญญาไทยจะทำให้เด็กเกิดความภูมิใจในชาติและสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา นายกสมาคมครูภูมิปัญญาไทย และครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม รุ่นที่ ๓ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
ครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา :    
ภูมิปัญญาไทยเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของชาติ เป็นมรดกของชาติ เป็นเกียรติของแผ่นดิน และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการดำรงชีวิต การเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้ถือเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาไทยที่ช่วยป้องกันอันตราย เป็นการออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และสามารถต่อยอดไปเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของท้องถิ่นได้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและสมาคมครูภูมิปัญญาไทย
 
ขอเชิญชวนผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อยกระดับภูมิปัญญาไทยสู่การปฏิรูปการศึกษา ได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา นายกสมาคมครูภูมิปัญญาไทย และครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม รุ่นที่ ๓ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      *****************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด