สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ครูกิตติ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ สภาการศึกษา

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากครูกิตติ อนันต์แดง ร่วมสนทนาประเด็น “ครูกิตติ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ สภาการศึกษา”
 
ทราบมาว่าครูกิตติ อนันต์แดง ได้รับเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และเป็นเจ้าของ “ศูนย์กสิกรรมสุขสวนสีฝุ่น”ก่อนอื่นขอให้ครูกิตติ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ครูสนใจด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม รวมถึงหลักคิดที่นำมาประยุกต์ใช้กับงานศิลปะของครู
       
ครูกิตติ อนันต์แดง :    
 
ในความคิดของครู ครูชื่นชอบการทำงานด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก มีความสุขจากการได้คิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ยิ่งได้มีโอกาสเรียนรู้การทำเครื่องปั้นดินเผา ทำให้มีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตด้วยงานศิลปะ นอกจากการทำงานปั้นและวาดภาพแล้ว ยังได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ศิลปะร่วมกับการดูแลชุมชน โดยได้จัดตั้ง “ศูนย์กสิกรรมสุขสวนสีฝุ่น” เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ทั้งด้านกสิกรรม ปศุสัตว์ และงานศิลปะ ให้กับผู้สนใจ 
       
ผู้ดำเนินรายการ :
     ครูกิตติมีกลวิธีในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนอย่างไร
       
ครูกิตติ อนันต์แดง :     การถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปะต้องเกิดจากการฝึกปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ศูนย์กสิกรรมสุขสวนสีฝุ่นมีการทดลองใหม่ๆอยู่เสมอ ทั้งสูตรดินปั้นที่ใช้หลักธรรมชาติ รวมถึงเทคนิคทางศิลปะ ทำให้ผู้เข้ามาเรียนรู้ได้รับองค์ความรู้ใหม่ที่แตกต่างกันในทุกครั้งที่เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์ ฯ 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ขอให้ครูกิตติเล่าถึงแนวคิดของ “ศูนย์กสิกรรมสุขสวนสีฝุ่น” 
       
ครูกิตติ อนันต์แดง :
   
“ศูนย์กสิกรรมสุขสวนสีฝุ่น” ตั้งอยู่ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ภายในพื้นที่ ๑๐ กว่าไร่ มีทั้งผลไม้ ผักปลอดสารพิษ และสัตว์เศรษฐกิจนานาชนิด เช่น วัว แพะ และไก่ดำ แนวคิดของศูนย์ ฯ คือ การทำงานต้องมีความสุขในทุกขั้นตอน จะทำกสิกรรมต้องมีความสุขตั้งแต่การรดน้ำ พรวนดินต้นไม้ การได้ให้อาหารสัตว์ ได้เห็นพรรณไม้และสัตว์เติบโตแข็งแรง เช่นเดียวกับการทำงานศิลปะที่สอดคล้องกับธรรมชาติที่สร้างสุขได้ทุกวัน 
 
ชีวิตประจำวันเริ่มจากการทำสวนและให้อาหารสัตว์ในช่วงเช้า ช่วงบ่ายเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนในฐานะผู้ใหญ่บ้าน พอถึงเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. – ๒๑.๐๐ น. จะทำงานศิลปะ โดยประสานวิถีธรรมชาติเข้ากับงาน ไม่ว่าจะเป็นการปั้นรูปสาวชาวบ้าน หรือการวาดภาพด้วยถ่านธรรมชาติ แม้ว่าจะทำงานตลอดทั้งวัน แต่ไม่เคยรู้สึกเหนื่อยล้า เพราะไม่คิดว่าเป็นงาน แต่เป็นการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกช่วง ถือเป็นหลักคิดสำคัญที่เผยแพร่ให้ผู้มาเรียนรู้ที่ศูนย์กสิกรรมสุขสวนสีฝุ่นได้ซึมซับแนวคิดเช่นนี้อยู่เสมอ
       
ผู้ดำเนินรายการ :     อยากให้ครูแนะนำว่า ประเทศไทยควรปรับวิธีการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กไทยมีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถประยุกต์งานศิลปะเพื่อพัฒนาสังคมได้อย่างไร
       
ครูกิตติ อนันต์แดง :    
ความคิดสร้างสรรค์มักไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติตามกันมา แต่เกิดจากประสบการณ์เฉพาะคน ครูจึงต้องไม่ปิดกั้นความคิดของเด็ก การสอนศิลปะอาจมีหลักวิชาการที่ต้องถ่ายทอด แต่ในทุกชั่วโมงเรียนต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้สร้างสรรค์ผลงานในแบบของตน ไม่นำความคิดแบบวัตถุนิยมมาตัดสินผลงานของเด็ก แต่ควรมองว่าการสร้างงานศิลปะเป็นการเรียนรู้พร้อมกันทั้งครูและเด็ก
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ครูกิตติ อนันต์แดง ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
ครูกิตติ อนันต์แดง :    
ทุกคนย่อมมีความฝันและอยากให้มุ่งมั่นไปให้ถึง แต่บางครั้งอาจลืมความสุขในทุกนาทีที่ผ่านไป ขอให้ทุกคนสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีความสุข สุขกับทุกนาทีของชีวิต และไม่ลืมที่จะใช้ชีวิตโดยสร้างคุณค่าให้กับชุมชนที่เราอาศัยอยู่ด้วย
 
ผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org Facebook Fanpage “ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย” อีเมล [email protected] นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูกิตติ อนันต์แดง ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๗ ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด