สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ครูอารีรัตน์ พูนปาล ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ สภาการศึกษา

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากครูอารีรัตน์ พูนปาล ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านเกษตรกรรม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 
ทราบมาว่าครูอารีรัตน์ พูนปาล เป็นเจ้าของ “สวนร่วมสมัย” ขอให้ครูอารีรัตน์เล่าถึงหลักคิดที่นำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่การเกษตรดังกล่าว
       
ครูอารีรัตน์ พูนปาล :     สวนร่วมสมัยตั้งอยู่ที่ตำบลเขาวงกต อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เป็นการทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตรอย่างหลากหลาย อาทิ การปลูกข้าวเพื่อการบริโภคในครัวเรือน การปลูกผัก ผลไม้ พืชสมุนไพร และการปลูกไม้ป่า ๕ อย่าง คือ ไม้ยา ไม้อยู่ ไม้ดู ไม้ดม และไม้แดก รวมถึงไม้ที่กินได้ชนิดอื่น ๆ และการเลี้ยงสัตว์
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ขอให้ครูอารีรัตน์ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ครูสนใจด้านเกษตรกรรม
       
ครูอารีรัตน์ พูนปาล :    
แรงบันดาลใจมาจากการที่มีบรรพบุรุษทำอาชีพด้านเกษตรกรรม และได้เรียนรู้การทำเกษตรมาตั้งแต่เด็กจึงผูกพันกับวิถีเกษตรกร เพราะเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีคุณค่าในตนเอง และสามารถทำให้สร้างปัจจัยสี่ทั้งอาหาร เครื่องนุ่มห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ทำให้เกิดความเชื่อมั่น และมีความสุขทุกครั้งที่ยืนอยู่บนผืนดินของเราและมองเห็นต้นไม้ที่เติบโตขึ้นด้วยมือของเราเอง
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ในยุคดิจิทัล หรือยุคประเทศไทย ๔.๐ ครูอารีรัตน์ ได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่การเกษตรอย่างไรบ้าง
       
ครูอารีรัตน์ พูนปาล :    
สวนร่วมสมัยมีความ “ร่วมสมัย” ดังชื่อที่ตั้งไว้ โดยมีการนำเครื่องจักรมาช่วยลดการใช้แรงงาน และนำเอานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องทางระบบอินทรีย์มาใช้ในการหมักเชื้อและให้ปุ๋ยอินทรีย์พร้อมกับระบบน้ำ ส่วนทางด้านการตลาด ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์มาเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าผ่านทางเพจของเฟสบุ๊ค
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
การทำเกษตรอินทรีย์ และ การเกษตรที่ใช้สารเคมี มีความแตกต่างอย่างไร 
       
ครูอารีรัตน์ พูนปาล :    
การเกษตรทั้งสองรูปแบบมีระดับความยากง่ายที่ใกล้เคียงกัน แต่มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เดิมเคยทำการเกษตรที่ใช้สารเคมีซึ่งเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องลงทุนซื้อสารเคมีและต้องพึ่งพาผู้อื่น ทำให้เป็นหนี้สินกว่าหนึ่งล้านบาท แต่เมื่อเปลี่ยนมาทำการเกษตรอินทรีย์แบบพึ่งพาตัวเอง ซึ่งเป็นวิถีเดียวกับที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ รวมถึงนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริม ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจนสามารถใช้หนี้สินได้หมดภายในระยะเวลา ๔ ปีครึ่ง อีกทั้งยังสามารถนำรายได้ที่เหลือจากต้นทุนการทำเกษตรมาพัฒนาที่ดินให้เป็นสวนแห่งการเรียนรู้ และนำมาสร้างอาคารอบรมที่ใช้ผู้สนใจได้มาศึกษาการทำเกษตรแบบพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งช่วยให้สุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้นด้วย 
       
ผู้ดำเนินรายการ :
   
ครูอารีรัตน์มีกลวิธีในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนอย่างไร
       
ครูอารีรัตน์ พูนปาล :    
วิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้ คือ ใช้หลัก “ทำให้ดี ทำให้ดู ทำให้ได้” เริ่มจากการ “ทำให้ดี” คือ ครูทำให้การเกษตรอินทรีย์ผสมผสานให้เป็นแบบอย่าง และเมื่อลงมือทำจนประสบผลสำเร็จแล้วจะมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาแนวคิด ครูจะใช้กลยุทธ์สร้างคนให้เป็นต้นแบบ โดยครู “ทำให้ดู” และช่วยแนะนำให้บุคคลกลุ่มนั้น “ทำให้ได้” เพื่อสามารถขยายองค์ความรู้ออกไปสู่ชุมชน อย่างไรก็ตาม จะต้องสังเกตผู้เรียนว่าเป็นคนรุ่นไหน ถ้าเป็นกลุ่มนักเรียน เราต้องเริ่ม “ปลูกฝัง” ให้เด็กมีความภาคภูมิใจในวิถีเกษตรตั้งแต่ยังเล็ก หากเป็นวัยกลางคนจะต้องใช้การ “ปลุก” ให้เปลี่ยนแนวคิดมาสนใจการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง โดยเริ่มจากการสำรวจและวิเคราะห์ตนเอง ซึ่งครูจะช่วยให้กำลังใจและสอนให้แก้ไขปัญหาและลงมือทำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาวิธีการทำหรือเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน 
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
ในช่วงแรกที่เริ่มทำสวนร่วมสมัย ชุมชนใกล้เคียงเห็นด้วยหรือไม่ 
       
ครูอารีรัตน์ พูนปาล :     ช่วงแรกคนในชุมชนไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรนัก แต่ครูเชื่อในหลักอริยสัจสี่ หากเรามีความตั้งใจใช้ความรู้ลงมือทำให้เกิดผลสำเร็จ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชนและอาจมีคนที่อยากเรียนรู้เพื่อทำการเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานให้ได้ผลสำเร็จเช่นกัน แนวคิดเช่นนี้จะช่วยถ่ายทอดภูมิปัญญาให้คนที่พร้อมจะเปิดใจรับฟังความรู้และกลับไปเป็นผู้นำในการขยายผลกับญาติพี่น้องหรือคนรู้จักที่มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน ทำให้แนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับของชุมชนได้ในที่สุด  
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ครูอารีรัตน์ พูนปาล ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านเกษตรกรรม ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
ครูอารีรัตน์ พูนปาล :    
ครูอยากบอกว่า คนรุ่นใหม่ต้องไม่ลืมฐานของตัวเอง ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในยุคดิจิทัลที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างแพร่หลาย แต่เกษตรกรรมเป็นสิ่งที่สามารถสร้างปัจจัยสี่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเรามีเทคโนโลยีแต่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตร เราจะขาดรากฐานที่มั่นคง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องภาคภูมิใจว่าเกษตรกรรมคือการอยู่กับดิน หลักธรรมชาติประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ทุกคนก็ต้องยืนอยู่บนฐานของดิน หากเราไม่ลืมรากฐานของตนเอง เราก็จะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้
 
ผู้สนใจโครงการครูภูมิปัญญาไทยหรือร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย ได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org Facebook Fanpage “ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย” อีเมล [email protected] นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูอารีรัตน์ พูนปาล ครูภูมิปัญญาไทย ด้านเกษตรกรรม รุ่นที่ ๘ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
     
*****************************************************************

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด