ยกเครื่องศิลปศึกษา ปรับวิธีการสอนใหม่

image

         วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา ครั้งที่ ๙/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. เพื่อร่วมกันพิจารณาและให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะเกี่ยวกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนการ บูรณาการศิลปะในระบบการศึกษา และแนวทางการพัฒนาและการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการศึกษา
         ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะทุกสาขามาให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ จำนวน 30 คน จากการประเมินสถานการณ์การจัดการศึกษา พบ 3 สาเหตุหลักที่ทำให้การจัดการศึกษาด้านศิลปะไม่ประสบความสำเร็จ และเสนอทางรอดไว้ 7 แนวทาง สรุปสถานการณ์และปัญหาของศิลปศึกษา ได้แก่
         1. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยรวมถึงระดับมหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญกับทักษะการเรียนวิชาภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้สมองซีกซ้ายที่พัฒนาทักษะการตัดสิน การใช้เหุตผล ภาษา การพูด และตัวเลข แต่ละเลยการพัฒนาสมองซีกขวาซึ่งเป็นเรื่องของความเข้าใจ อารมณ์สุนทรียะ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะได้จากการเรียนรู้จากวิชาศิลปะ ดนตรี กีฬา โดยหลักสูตรมีจำนวนชั่วโมงและหน่วยกิตที่พัฒนาสมองซีกขวาน้อยมาก ส่งผลให้เกิดภาวะ “ความรู้   ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด”
         2. รูปแบบการจัดระบบการศึกษาจำแนกเด็กในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นสายวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ ทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาสมองและการเรียนรู้ที่สมดุล ซึ่งในต่างประเทศจะจัดการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายแบบรู้รอบ รู้จักตนเอง รู้จักโลก รู้จักแก้ปัญหา รู้ทักษะชีวิต (Liberal Arts) เพื่อเป็นการปูพื้นฐานการเรียนรู้ที่สมดุล ไม่แยกเป็นสายวิทย์และศิลป์อย่างในประเทศไทย  
         3. การสนับสนุนจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่พยายามผลักดันบุตรหลานให้เรียนในระดับอุดมศึกษาในสายวิชาชีพที่เป็นที่นิยมของตลาดแรงงาน เช่น แพทย์ วิศวกร นักกฎหมาย นายธนาคาร ไม่ช่วยให้เด็กค้นหาตัวเอง แต่เพื่อไปประกอบอาชีพตามความคาดหวังของผู้ปกครอง ทำให้เด็กที่มีความถนัดและมีพรสวรรค์ด้านศิลปศึกษาพลาดโอกาสความก้าวหน้าในเส้นทางสายอาชีพ 
         ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้เสนอแนะ 7 แนวทาง ดังนี้
         1. ยกเครื่องระบบการศึกษา โดย 1) รื้อหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ ให้จัดวิชาและทักษะพื้นฐานร้อยละ 50  อีกร้อยละ 50 ให้เด็กเลือกเรียนได้ตามความถนัด หรือจัดให้มีสาระวิทยาศาสตร์และ  ศิลปศาสตร์ ในสัดส่วน 50:50 2) ให้มีเป้าหมายปลายทางที่สำคัญ (Output/Outcome)  คือ เป็นพลเมืองดี มีวินัย ภูมิใจในความเป็นไทย 3) พัฒนาครูให้ปรับวิธีจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กไทยยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ให้สอดคล้องกับสภาพ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคมยุคโลกาภิวัตน์  โดยจัดทำข้อแนะนำในการจัดการเรียนการสอน (Blueprint) การวัดประเมินผล การผลิตสื่อ และการจัดกิจกรรมเสริมนอกห้องเรียน และ 4) ให้เชื่อมโยงนโยบายการจัดการศึกษาไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แผนการศึกษาแห่งชาติ ให้เห็นเป้าหมายที่แท้จริงในภาพรวมของประเทศ  และนำมาสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการหรือข้อเสนอแนวทาง
         2. ระดับปฐมวัยและประถมศึกษา เป็นช่วงอายุที่จะพัฒนาทักษะจินตนาการ และการสร้างสรรค์ ควรฝึกอบรมครูที่ไม่มีวุฒิทางศิลปศึกษา โดยต้องเน้นให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ การถ่ายทอดทักษะ วิธีสอน ซึ่งครูไม่จำเป็นต้องเก่งทักษะงานศิลปะ แต่ต้องสอนได้และสอนเป็น การสอนเด็กเล็กควรเน้นให้เด็กทุกคนเรียนแล้วสนุก มีความสุข และค้นหาเด็กมีแววความถนัด เพื่อช่วยพัฒนาเด็กที่มีพรสวรรค์
         3. ระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยธรรมชาติทั่วไปเด็กจะไม่สนใจวิชาศิลปะ เพราะมีเพียง 0.5 หน่วยกิต และไม่ได้ใช้ในการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ครูจึงต้องใช้เทคนิคการสอนแบบบูรณาการกับรายวิชาอื่น เพื่อให้เด็กเห็นประโยชน์ ว่านำไปใช้อะไร และสามารถนำไปสู่การสร้างรายได้และอาชีพในอนาคต โดยจัดแสดงผลงานที่นักเรียนผลิต 
         4. ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอนในวิชาศิลปะทุกระดับการศึกษา  1) ไม่ต้องเน้นที่ผลงานของเด็ก โดยจำแนกเด็กออกเป็นกลุ่มผู้เรียนทั่วไป สอนแล้วเด็กต้องไม่เกลียดหรือกลัววิชาศิลปะ แต่เรียนรู้ด้วยความสนุก เกิดสุนทรียะ 2) สำหรับกลุ่มผู้มีความถนัดเชิงศิลปะ ให้ส่งเสริมโดยจัดหาเวทีประกวด หาตลาดจำหน่าย เพื่อสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจ และ 3) ให้นำประสบการณ์ของครูและสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จ นำมาถอดบทเรียนแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) และทำฐานข้อมูล แขวนเว็บเพื่อการขยายผล (ในเชิงนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลาย)
         5. ด้านระบบแนะแนวและผู้ปกครอง  1) ควรปรับปรุงระบบแนะแนวของสถานศึกษา เพื่อให้เด็กที่สนใจทางศิลปศึกษาได้ค้นพบตนเอง  และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ปกครองร่วมสนับสนุนเด็กที่มีพรสวรรค์ ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดไปในสายวิชาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคง  2) ให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมชื่นชมในกระบวนการทำงานศิลปะของนักเรียน  3) การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในเรื่องของการสอนลูกให้เป็นคนเก่ง ดี มีสุข มีทั้งคุณภาพควบคู่คุณธรรม  โดยคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาฯ จะจัดทำคู่มือแนะนำผู้ปกครอง ในการมีส่วนร่วมสร้างเด็กไทย ให้เป็นพลเมืองดี มีวินัย ภูมิใจในความเป็นไทย
         6. การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือการศึกษาตลอดชีวิต ให้สร้างระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ (Big Data Analysis) เพื่อให้ผู้สนใจค้นหาแหล่งเรียนรู้ เสาะแสวงหาผู้เชี่ยวชาญ และเนื้อหาของวิชาศิลปะในทุกแขนง โดยเรียนรู้ได้จากเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยให้เรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ หากมีคลิปวีดีโอในรูปแบบของการ์ตูนแอนิเมชั่น (Animation) หรือยูทูป (YouTube) จะทำให้มองง่ายและเข้าใจได้หลากหลายมิติ
         7. ให้พัฒนาการจัดการศึกษาด้านศิลปศึกษาตามแนวทางของสหประชาชาติ คือ เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Arts for Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม เน้นผลลัพธ์การพัฒนาที่มุ่งเป้าในระยะยาวและยั่งยืน กระจายความเท่าเทียมและความเป็นธรรมสู่ประชาชนทุกกลุ่ม ภายใต้หลักการ 5 Ps ได้แก่ 1. ประชาชน (People) 2. โลก (Planet) 3. ความมั่งคั่ง (Prosperity) 4. สันติภาพ (Peace) และ 5. ความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) 

 

 

 

 

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด