อนุกรรมการศาสนาฯ ถกแผนบูรณาการภูมิปัญญากับระบบการศึกษา

image

เมื่อวันที่ (๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑) ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ ๘/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. โดยมี คณะอนุกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ครูภูมิปัญญาไทยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาทั้ง ๙ ด้าน และคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการบูรณาการการศึกษากับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา ร่วมกันพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนการบูรณาการภูมิปัญญาในระบบการศึกษา และแนวทางการพัฒนาและการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการศึกษา

 

 

         ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม ด้านกีฬา และด้านศาสนา มาให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อการบูรณาการกับการศึกษา ครั้งนี้จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านภูมิปัญญามาให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ และจากการประเมินสถานการณ์การจัดการศึกษาด้านภูมิปัญญาไทย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมทะนุบำรุงงานภูมิปัญญาไทยให้อยู่รอดและรักษาไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทย ซึ่งที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะที่สำคัญ 8 ประเด็น ได้แก่

 

 

         1. ให้ทบทวนนโยบายและแผนงานสนับสนุนครูภูมิปัญญา เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเข้มแข็ง จำแนกความเชี่ยวชาญออกเป็น 9 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเกษตรกรรม 2) ด้านอุตสาหกรรม 3) ด้านการแพทย์แผนไทย 4) ด้านการจัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5) ด้านศิลปกรรม  6) ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน 7) ด้านภาษาและวรรณกรรม 8) ด้านปรัชญาศาสนาและประเพณี และ 9) ด้านโภชนาการ ซึ่งปัจจุบันมีครูภูมิปัญญาไทยที่ยังมีชีวิตกระจายอยู่ทั่วประเทศ กว่า 358 คน

       2. ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ได้กำหนดเรื่องการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต ในมาตรา 124 และการใช้สื่อสร้างสรรค์ในการเรียนรู้ในมาตรา 82 และ 83 จึงต้องดำเนินการการจัดการศึกษาด้าน ภูมิปัญญาให้สอดคล้องกับหลักการตามกฎหมาย

       3. สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ของครูภูมิปัญญาไทยให้ได้มาตรฐานและได้การรับรองวุฒิบัตรจากหน่วยงานที่พัฒนาทักษะทางอาชีพ เช่น กศน. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

      4. กระตุ้นให้ครูภูมิปัญญาไทยได้พัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะและต่อยอดโดยใช้งานวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับผลงานให้เกิดมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ จึงจะจูงใจให้ผู้เรียนเห็นประโยชน์ในการสร้างอาชีพจากการใช้ภูมิปัญญาไทย

        5. นำเรื่องของภูมิปัญญาบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในส่วนที่เป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งสถานศึกษามีอิสระในการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมให้เหมาะสมกับท้องถิ่น แต่กิจกรรมต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากคณะกรรมการสถานศึกษาด้วย

       6. ควรจัดทำศูนย์ข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาเพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบว่า หากประสงค์จะฝึกทักษะพิเศษที่ต้องใช้ภูมิปัญญาไทย จะไปเรียนรู้ที่ไหนและอย่างไร

      7. ในการจัดการศึกษาด้านภูมิปัญญาไทย ควรจะแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เช่นกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีนโยบายสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ หรือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

      8. การสนับสนุนกิจกรรมของศูนย์ครูภูมิปัญญาไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศ หากสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ก็จะเป็นแรงจูงใจให้มีผู้สนับสนุนภูมิปัญญาไทยเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการประชุมครั้งต่อไปคณะอนุกรรมการฯ จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะมาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 

 

ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด