สกศ. ศึกษาดูงานการสร้างผู้เรียนให้สอดคล้องกับ EEC ณ “วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี)” และ “วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ” จังหวัดชลบุรี

image

         

 

       วันนี้  (๕ พ.ย. ๒๕๖๑ ช่วงเช้า) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดย กลุ่มมาตรฐานการศึกษา สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนของ “วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี)” จังหวัดชลบุรี  ซึ่งได้รับการต้อนรับจาก ดร. พีรพงษ์ พันธ์โสดา ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ และคณะผู้บริหาร  สำหรับการศึกษาดูงานนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการสร้างนักเรียนนักศึกษาให้มีคุณลักษณะ ทักษะ สมรรถนะที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ

 

 

          วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี)  มีหลักสูตรการเรียนการสอนแบ่งเป็น ๓ หลักสูตร คือ  ๑.หลักสูตรอาชีวศึกษาแบบปกติทั่วไป  ๒. หลักสูตรช่างอุตสาหกรรมฐานวิทยาศาสตร์ (เรียน ๓ ปี) การเรียนในหลักสูตรนี้จะมีเกณฑ์ในการรับนักเรียน เช่น รับนักเรียนที่มีผลการเรียนวิชาวิทย์  คณิต ไม่ต่ำกว่า ๓ .00 การเรียนจะเน้นเรียนแบบโครงงาน ทุกปีการศึกษานักเรียนต้องมีโครงงานนำเสนอ ๓. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ต่อเนื่อง ๕ ปี ตามมาตรฐาน KOSEN เปิดในสาขา “หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม” หลักสูตรนี้เป็นจากญี่ปุ่น การสอบเป็นข้อสอบจากญี่ปุ่น ในการรับนักเรียน จะมีเกณฑ์รับเช่นกัน ได้แก่ นักเรียนต้องมีผลการเรียนวิชาวิทย์  คณิต ไม่ต่ำกว่า ๓  และในหลักสูตรนี้ นักเรียนต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นและสอบเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหลักสูตรที่เปิดสอนของวิทยาลัยนี้สอดรับกับความต้องการของสถานประกอบการ  โดยจากการสำรวจของวิทยาลัย พบว่าสาขาที่ขาดแคลนอย่างมาก คือ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

 

 

           สำหรับเทคนิคในการสอนเพื่อให้นักศึกษามีสมรรถนะที่ต้องการ วิทยาลัยใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ ๑. Active Learning เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ลงมือปฏิบัติ ๒. จัดการสอนแบบสเต็มศึกษา ๓. Project Based Learning (PjBL) การจัดการเรียนรู้ที่ใช้โครงงานเป็นฐาน และ ๔. การเรียนการสอนแบบ PACK Model คือ รูปแบบที่ให้ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม (Problem Topic : P กำหนดปัญหา Analysis to Study for Searching : A วิเคราะห์หาข้อมูล วิธีแก้ปัญหา Create and Testing : C สร้างงานและทดสอบ แก้ปัญหาตามแผนที่วางไว้ และ Knowledge Conclusion : K สรุปกรอบองค์ความรู้ที่ได้)

 

          ในช่วงบ่าย ศึกษาดูงานที่ “วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ” จังหวัดชลบุรี  โดยนายวิชัย หาญพลาชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และคณะผู้บริหารให้การต้อบรับและให้ข้อมูล วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเปิดหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวส.)  แต่ละระดับมี ๔ ประเภท คือ ๑. ประเภทวิชาอุตสาหกรรม ๒. ประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ๓. ประเภทวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ ๔.ประเภทวิชาพาณิชยกรรม  การเรียนการสอนจะเน้น “เรียนรู้  รู้จริง ลงมือทำจริง” ซึ่งสาขาที่วิทยาลัยเปิดสอนมีหลายสาขาที่รองรับ EEC (Eastern Economic corridor) , S-Curve และ New S-Curve เช่น สาขาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง  สาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์  สาขาช่างซ่อมอากาศยาน สาขาวิชาตรวจสอบโดยไม่ทำลาย เป็นต้น  ตลอดจนมีการคิดค้นระบบการศึกษาที่เป็นต้นแบบ คือ “สัตหีบโมเดล”

 


           “สัตหีบโมเดล” มีแนวคิดคือ  “ผู้ใช้ร่วมคิด  ผู้ผลิตร่วมกำหนด ภายใต้บริบทร่วมรับผิดชอบ” จึงคิดรูปแบบการเรียนการสอน ที่บูรณาการกับการทำงาน โดยความร่วมมือของ ๓ ฝ่าย คือ ๑.สถานศึกษา ๒.สถานประกอบการ และ๓. สมาคมหรือองค์กรวิชาชีพ เป็นความร่วมมือทั้งทางด้านหลักสูตร การเรียนการสอน การประเมินผล และคุณวุฒิวิชาชีพ มีการกำหนดรายละเอียดการดำเนินงาน คือ ๑. ครูสอน ครูฝึก ๒. การประสานความร่วมมือ ๓.การพัฒนาหลักสูตรรายวิชา ๔.กระบวนการเรียนการสอน  การฝึกประสบการณ์ ๕.สวัสดิการของผู้เรียน และ ๖. รายได้ระหว่างเรียน  ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากโมเดลนี้  จะเกิดประโยชน์ทั้งทางด้านสถานศึกษา ที่จะยกระดับการเรียนการสอน ยกระดับฝีมือช่างเฉพาะทางให้มีทักษะทัดเทียมนานาชาติ สามารถผลิตแรงงานวิชาชีพได้ตรงความต้องการของสถานประกอบการ  ส่วนของสถานประกอบการจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานเฉพาะทาง และมีแรงงานรองรับการเติบโตของสถานประกอบการในอนาคต ส่วนสมาคมหรือองค์กรวิชาชีพ จะสามารถประสานนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน โดยเข้ามาร่วมกำหนดสมรรถนะวิชาชีพให้เกิดขึ้น

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด