สกศ. ลงพื้นที่ระดมความคิดเห็น เฟ้นหา คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนตามอัตลักษณ์ ความต้องการ และภูมิสังคม : ภาคตะวันออก

image

 

          วันนี้ (๖ พ.ย.๖๑) นายสำเนา  เนื้อทอง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนตามอัตลักษณ์ ความต้องการและภูมิสังคม : ภาคตะวันออก ณ  โรงแรมแคนทารี  เบย์ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี

 

          นายสำเนา เนื้อทอง กล่าวว่า จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก IMD ปี ๒๕๖๑ ไทยได้อันดับที่ ๓๐ จาก ๖๓ เขตเศรษฐกิจ ลดลง ๓ อันดับจากปี ๒๕๖๐ ต่ำกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย  ยิ่งความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของไทยในเวทีโลก ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะอยู่ในอันดับที่ ๕๖ จาก ๖๓ เขตเศรษฐกิจ ลดลง ๒ อันดับจากปี ๒๕๖๐  คำถามคือทำไมความสามารถในการแข่งขันของไทยจึงลดลง และจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น  อีกทั้งประเทศไทยยังติดกับรายได้ปานกลางมาแล้วกว่า  ๒๐ ปี  หากสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ต่อไป พยากรณ์ว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี จึงอาจสามารถหลุดพ้นจากกับดับรายได้ปานกลางได้  หากเป็นเช่นนี้แล้ว จึงต้องมาช่วยกันคิดว่าการศึกษาจะช่วยให้ไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างไร ไทยควรมีการเตรียมคนอย่างไร ให้ก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลาง จึงเป็นที่มาของร่วมระดมความคิดในการ่ประชุมวันนี้

 

 

          นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ รองนายกองค์การปกครองส่วนจังหวัดชลบุรี  กล่าวโดยสรุปว่า จังหวัดชลบุรีนับว่ามีเศรษฐกิจที่ดี  การส่งออก มีท่าเรือน้ำลึก  มีภาคอุตสาหกรรมที่ทำรายได้  มีการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ซึ่งเหล่านี้นับเป็นจุดแข็งที่ต้องรักษา  ในด้านการศึกษาองค์การปกครองส่วนจังหวัดมีสถานศึกษาที่รับผิดชอบ มีทั้งหมด ๑๑ สถานศึกษา  และอบจ. ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก งบประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ ๕๐๐ ล้านบาท ใช้สนับสนุนการศึกษาให้มีคุณภาพที่ดี เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีการจัดการศึกษาแบบทวิภาคีมากขึ้น และสถานประกอบให้ความสำคัญกับเรื่องสมรรถนะ ทักษะเพิ่มขึ้น  ชลบุรีนับว่าเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมเร็วกว่าที่อื่น เพราะเคยมีโครงการเรื่องการศึกษาเพื่อการมีงานทำ และนำแนวทางนี้ไปใช้กับสถานศึกษาจำนวนมากในจังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ชลบุรีเติบโตแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่าเรือ ยานยนต์ระบบราง ซึ่งขณะนี้มีสถาบันที่เปิดสอนในเรื่องเหล่านี้รองรับแล้ว  สำหรับอบจ. ก็พร้อมเป็นตัวกลางในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน
 

 

          นางสาววรดา ชำนาญพืช รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี นำเสนอมุมมองแนวคิด เรื่อง คุณลักษณะแรงงานในสถานประกอบการ ๔.๐ กล่าวโดยสรุปว่า การขับเคลื่อนประเทศ คนมีบทบาทสำคัญมาก แต่ปัจจุบันพบว่า เด็กไทยยังมีปัญหาในด้านขาดภาวะผู้นำ  ขาดความสามารถในการตัดสินใจ  เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลในปัจุจบัน เด็กใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตนในด้านการบันเทิง ไม่ได้เข้าถึงข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ หรือเพื่อเรียนรู้ รวมถึงไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่เกิดขึ้นมักเกิดจากการที่เด็กไม่พร้อม ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุง  เพราะในการทำงานไม่ควรพอใจกับความสำเร็จ แต่ต้องพัฒนาต่อเนื่อง ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง  สำหรับการผลิตนักศึกษาต้องคำนึงว่าสิ่งที่ผลิตเป็นสิ่งที่สถานประกอบการต้องการ ต้องพยายามให้นักศึกษามีเป้าหมายและมีทักษะการเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองต้องการไปประกอบอาชีพ รวมถึงต้องผนวกเรื่องคุณธรรมจริยธรรม วินัย และความเป็นไทย  นอกจากนี้ในการพัฒนาเด็ก เห็นว่านอกจากควรมีศูนย์เด็กเล็กแล้ว ยังควรมีศูนย์ดูแลคุณแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ เพื่อให้เด็กมีคุณภาพตั้งแต่แรกเกิดอีกด้วย

 

 

          นางสาววิไลพรรณ ท้อสุวรรณ ที่ปรึกษาสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล และที่ปรึกษาเครือข่าย RISMEP ชลบุรี นำเสนอมุมมอง แนวคิด เรื่อง คุณลักษณะผู้เรียน หลักสูตรและสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของจังหวัดชลบุรี โดยสรุปว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเปลี่ยน mindset ของเด็ก ต้องทราบข้อมูลว่า ปัจจุบันโลกก้าวไปขนาดไหน เมื่อสำรวจในหลาย ๆ ประเทศจะพบว่า ปัจจุบันมีการนำหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานคนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการผลิตนักศึกษาจึงต้องเปลี่ยนให้ตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไป ครูต้องทำหน้าที่เป็น coaching จากการสำรวจความต้องการด้านคุณลักษณะของแรงงาน พบสิ่งที่สถานประกอบการต้องการ ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความซื่อสัตย์ สุจริต  ขยัน หมั่นเพียร ตรงเวลา อดทน ใฝ่เรียนรู้และมีจิตสาธารณะ ฯลฯ สำหรับอาชีพที่เป็นที่ต้องการในอนาคต ได้แก่ อาชีพที่เกี่ยวกับความงาม เช่น แพทย์ศัลยกรรม แพทย์ผิวหนัง  อาชีพเขียนโปรแกรม  อาชีพดูแลด้านสุขภาพ เช่น พยาบาล ผู้บริบาล  อาชีพที่เกี่ยวกับพลังงาน  การดูแลสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า  อาชีพที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เคมี ชีวเคมี เป็นต้น สำหรับอาชีพที่จะเป็นแนวโน้มในอนาคต ได้แก่ นักวิทยาการข้อมูล  นักสถิติ  นักคณิตศาสตร์ประกันภัย  นักวิเคราะห์ความมั่นคงสารสนเทศ นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

 

 

           หลังจากนั้น ที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น เป็น ๓ กลุ่ม โดยร่วมระดมความคิดเห็นในเรื่องคุณลักษณะผู้เรียน หลักสูตรและสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ได้คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนตามอัตลักษณ์ ความต้องการ และภูมิสังคมของพื้นที่

 

 

          จากนั้น ในช่วงบ่าย นายสำเนา  เนื้อทอง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ นำข้าราชการ ศึกษาดูงานวิทยาลัยเทคนิคบางแสน จังหวัดชลบุรี ซึ่งในวิทยาลัยมีศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมี นายปริวัฒน์ ถานิสโร รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ และนายเชาวฤทธิ์ ลำพาย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคบางแสนให้การต้อนรับและให้ข้อมูลในการผลิตและพัฒนาผู้เรียนให้สอดรับการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC)

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด