ถอดรหัสข้อเสนอผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนา ศาสนาไม่ได้มีไว้ขึ้นหิ้ง ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมให้จับต้องได้

image

 

           เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา เป็นประธานการประชุม คณะอนุฯ ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา ครั้งที่ ๗/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. เพื่อร่วมกันพิจารณาและให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนาเกี่ยวกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนการบูรณาการศาสนาในระบบการศึกษา และแนวทางการพัฒนาและการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการศึกษา

 

 

          ดร.จรวยพร ธรณินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมและด้านกีฬา มาให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อการบูรณาการกับการศึกษา  ซึ่งครั้งนี้ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนามาให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ แบ่งประเด็นสำคัญออกเป็น ๓ ด้าน ได้แก่ 

 

 

           ๑. ด้านหลักการและแนวคิด คนยุคใหม่หรือเจเนอเรชั่นรุ่นอัลฟ่ามีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น การปฏิสัมพันธ์กับบ้าน โรงเรียน วัด ลดน้อยลง หากไม่มีความรักความผูกพันแล้ว จะทำให้ขาดความเอื้ออาทร และถ้าปล่อยให้สังคมเป็นสภาพเช่นนี้ก็จะเกิดปัญหา ดังนั้น วิธีจัดการเรียนการสอนควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม การสอนศาสนาและคุณธรรม คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากใช้การเรียนรู้ด้วยการสั่งหรือสอนให้ทำจะได้ผลเพียง ร้อยละ ๑๐ การเรียนรู้จากการลงมือทำจะได้ผล ร้อยละ ๓๐ การเรียนรู้จากความรู้สึกจะได้ผล ร้อยละ ๗๐ และการเรียนรู้จากการเผชิญวิกฤติ (ตัวอย่างกรณีเด็กทีมหมูป่าที่ติดถ้ำหลวง) จะได้ผล ร้อยละ ๑๐๐ ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนด้านศาสนา ไม่ควรเน้นเนื้อหาโดยไม่ได้นำไปใช้ในชีวิตจริง ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อให้สอบให้ผ่าน 

 

 

           ๒. ด้านนโยบายและการเสริมสร้างความเข้มแข็ง เห็นควรให้บรรจุแผนงานไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี เพื่อให้รัฐบาลและผู้บริหารระดับสูงมีส่วนช่วยในการผลักดันไปสู่การปฏิบัติ การส่งเสริมบทบาทของครอบครัว เช่น จัดทำคู่มือเพื่อแนะนำพ่อแม่ให้มีการฝึกหลักศาสนาในชีวิตประจำวัน การสนับสนุนองค์กรเยาวชนใช้เวลาว่างที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักศาสนาและคุณธรรม โดยเน้น กิจกรรม พอเพียง จิตอาสา  มีวินัย และซื่อสัตย์ และในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันอุดมศึกษา หากบัณฑิตที่มีผลงานทำความดีเป็นที่ชื่นชม ให้ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรก่อนบัณฑิตเกียรตินิยม จะทำให้กระแสการยกย่องคนดีเกิดขึ้น เพื่อเปลี่ยนค่านิยมยกย่องคนเก่ง ซึ่งเป็นคนดีด้วย 
 

 

           ๓. ด้านหลักสูตร ควรเน้นให้เกิดหลักธรรมที่เหมาะกับเด็กในแต่ละช่วงชั้น เช่น ประถมปีที่ 1 และ 2 ให้เน้น ความกตัญญู เป็นต้น
“สิ่งที่ควรปรับให้สถานศึกษาที่มีนักเรียนนักศึกษาหลายศานา ให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือ “ศาสนิกศึกษา” ซึ่งจะเป็นคำศัพท์ที่เหมาะสมกว่าคำว่า “ศาสนาเปรียบเทียบ”  หรือ  “ศาสนสัมพันธ์” ซึ่งอาจทำให้ตีความหมายไปแตกต่างกัน แต่เป็นการเน้นให้ทุกศาสนิกชนอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจกัน” ดร.จรวยพร กล่าวสรุป
 

 

 
          สำหรับการประชุมครั้งต่อไปคณะอนุกรรมการฯ จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านภูมิปัญญามาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
 
 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด