สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น “เปิดมาตรการสร้างความปลอดภัยในรั้วโรงเรียน”

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “เปิดมาตรการสร้างความปลอดภัยในรั้วโรงเรียน”
 
ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเพื่อพิจารณาระบบความปลอดภัยในสถานศึกษาและระบบสวัสดิภาพในสถานศึกษา ขอเรียนถามท่านรองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ) ถึงสาระสำคัญและผลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :      ตามมาตราที่ ๔๕ ของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ได้กำหนดให้สถานศึกษาต้องมีบริการเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาด้วยการจัดระบบความปลอดภัยและระบบสวัสดิภาพในสถานศึกษา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะระบบความปลอดภัยในสถานศึกษาถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบการจัดการเรียนสอนที่มีประสิทธิภาพ เด็กบางคนอาจต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว โรงเรียนจึงควรเป็นที่พึ่งและให้ความปลอดภัยกับเด็ก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖  และระเบียบต่าง ๆ แต่ยังขาดกลไกบริหารจัดการระบบความปลอดภัยในโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ ดังที่เห็นได้จากข่าวความรุนแรงในโรงเรียนที่มีอย่างต่อเนื่อง หากไม่เร่งจัดการปัญหาดังกล่าวจะทำให้เด็กไม่มีความสุขในการเรียนและอาจหลุดจากระบบการศึกษาไปในที่สุด  
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ระบบความปลอดภัยในสถานศึกษาจะคุ้มครองสวัสดิภาพของนักเรียนในด้านใดบ้าง 
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :    

  จากการลงพื้นที่ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก พบว่า อันตรายในสถานศึกษาที่พบบ่อยแบ่งเป็น ๕ ด้าน ได้แก่ 

๑) อุบัติเหตุ  ประกอบด้วย อุบัติเหตุภายในสถานศึกษา ทั้งจากอาคารเรียน เครื่องเล่น และอุปกรณ์ทางการเรียน รวมถึงอุบัติเหตุภายนอกสถานศึกษาที่เกิดจากการเดินทาง ไป-กลับ จากบ้านมาโรงเรียน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง 
 
๒) ความรุนแรง ผลการวิจัยจากหลายสถานศึกษาทั่วโลก พบว่า ร้อยละ ๓๐ ของความรุนแรงในสถานศึกษาเกิดจากครูผู้สอน ทั้งจากการทำโทษและการตำหนิโดยใช้อารมณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็ก นอกจากนี้ ยังมีความรุนแรงระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก และความรุนแรงที่เด็กกระทำต่อกันตามที่เป็นข่าว ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการสอนคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนให้จริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้น 
 
๓) มลพิษ ครูผู้สอน ผู้ปกครอง และชุมชน ควรร่วมกันหาแนวทางลดมลพิษจากสิ่งแวดล้อมทั้งในสถานศึกษาและชุมชนโดยรอบ เนื่องจากมลพิษจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็ก
 
๔) สิ่งปนเปื้อน มีอยู่ทั้งในอาหาร อุปกรณ์ของใช้ และของเล่น ผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการเลือกซื้อสิ่งของที่สะอาด ได้มาตรฐาน และจัดวางไว้ในที่ที่ปลอดภัย
 
และ ๕) ภัยพิบัติและโรคระบาด ควรมีแผนเฝ้าระวังภัยธรรมชาติและแนวทางควบคุมโรคติดต่อซึ่งแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในแหล่งชุมชนรวมถึงสถานศึกษา
       
ผู้ดำเนินรายการ :      การลงโทษรูปแบบใดที่ไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงต่อเด็กนักเรียน
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :    

การลงโทษเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง เพราะการลงโทษอาจช่วยให้เด็กหยุดกระทำสิ่งที่ไม่สมควรทำได้เพียงชั่วคราว แต่กลับสร้างบาดแผลทางจิตใจให้เด็กในระยะยาว การลงโทษที่ไม่ถือเป็นความรุนแรงควรอยู่บนพื้นฐาน ๓ ประการ คือ ๑) มีกติกาที่ชัดเจน ครูผู้สอนควรกำหนดข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันให้เด็กรับทราบ สามารถลงโทษได้เมื่อทำความผิด แต่ต้องไม่ลงโทษตามอารมณ์ ๒) ก่อนลงโทษต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าเขามีความผิดอย่างไร แนวทางนี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคม ยอมรับผิด ไม่ถือโทษโกรธเพื่อนๆ และครูผู้สอน และ ๓) ไม่ลงโทษเด็กโดยการประจาน เช่น การตีหน้าชั้นเรียน หรือเรียกมาลงโทษหน้าเสาธง เพราะจะทำให้เด็กอับอาย ไม่ได้พิจารณาความผิดของตน และไม่สามารถช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กได้ ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายตระหนักร่วมกันว่า เด็กทุกคนต่างอยากเป็นที่รักของครูและเพื่อน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ครูต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานครอบครัวที่แตกต่างกัน บางคนเจอความรุนแรงในครอบครัว เมื่อมาเจอความรุนแรงในชั้นเรียนอีกจึงอาจมีพฤติกรรมตอบสนองที่ค่อนข้างก้าวร้าว 

ในฐานะที่ได้สอนนักศึกษาระดับปริญญาโท คณะครุศาสตร์ สาขาปฐมวัย และได้แนะนำให้นักศึกษาที่เป็นครูประจำชั้นกอดเด็กทุกวันก่อนเริ่มเรียนหนังสือ พบว่า ภายในสองสัปดาห์เด็กนักเรียนที่ดื้อและก้าวร้าวค่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สถานศึกษาทุกแห่งควรน้อมนำพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาปรับใช้ คือ การให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู ครูสอนให้เด็กมีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความรุนแรงในโรงเรียน และทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนมากยิ่งขึ้น 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับข่าวรุ่นพี่รุมทำร้ายรุ่นน้องที่เป็นเด็กพิเศษ และสังคมไทยควรได้บทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :     ทุกฝ่ายในสังคมไทยควรหันมาทำความเข้าใจเด็กพิเศษให้มากขึ้น เริ่มจากผู้ปกครองของเด็กพิเศษต้องยอมรับและยินดีเปิดเผยข้อมูลให้ครูผู้สอนและชุมชนรับทราบว่าลูกของตนเป็นเด็กพิเศษ เพื่อให้ทุกฝ่ายช่วยดูแลความปลอดภัยของเด็กร่วมกัน ด้านผู้อำนวยการโรงเรียนต้องแจ้งให้ครูผู้สอนรับทราบว่าในโรงเรียนมีเด็กพิเศษกี่คน และต้องการการดูแลที่แตกต่างจากเด็กทั่วไปอย่างไร ครูผู้สอนต้องช่วยอธิบายให้นักเรียนเข้าใจและช่วยกันดูแลเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่เป็นเด็กพิเศษ อาจใช้การจับคู่บัดดี้ หรือมีนักเรียนทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครดูแลเด็กกลุ่มนี้ ถือเป็นการสอนคุณธรรมจริยธรรมให้เด็กในทางปฏิบัติได้อย่างดียิ่ง 
       
ผู้ดำเนินรายการ :      จากที่กล่าวมาจะเป็นการเพิ่มภาระครู นอกเหนือจากการเรียนการสอนหรือไม่ 
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :      อยากสนับสนุนให้มีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน หรือเพิ่มบทบาทครูแนะแนวในการปลูกฝังความคิดให้นักเรียนมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย โดยให้นักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองร่วมเป็นอาสาดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนร่วมกับครูอาจารย์ ซึ่งอาจขยายผลไปถึง การดูแลความปลอดภัยในบ้านและชุมชนรอบโรงเรียน 
       
ผู้ดำเนินรายการ :      คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จะสร้างกลไกหรือมาตรการอย่างไร เพื่อบังคับใช้ระบบความปลอดภัยในสถานศึกษา ฯ ให้เกิดประสิทธิภาพ 
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :     คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จะจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยและระบบสวัสดิภาพในโรงเรียน โดยมุ่งยกระดับให้ระบบดังกล่าวมีความสำคัญเทียบเท่ากับการจัดการเรียนการสอน พัฒนาผู้นำในองค์กร โดยเฉพาะผู้อำนวยการสถานศึกษาให้ตระหนักถึงความสำคัญด้านการดูแลความปลอดภัย และใช้ Digital Platform ในการสร้างองค์ความรู้ จัดทำแผนเฝ้าระวัง และติดตามประเมินผลระบบความปลอดภัยและระบบสวัสดิภาพในสถานศึกษา ทั้งนี้ กอปศ. จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปเป็นข้อมูลในการจัดทำกฎกระทรวงต่อไป 
       
ผู้ดำเนินรายการ :      สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านรองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ) ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :    

เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับศักยภาพในการเรียนรู้ และเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศ เด็กต้องการความรักและควรได้เติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทั้งบ้านที่อบอุ่นปลอดภัยและโรงเรียนที่ช่วยปกป้องดูแลสวัสดิภาพของเด็กได้ 

สำหรับประชาชนที่สนใจจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org  Facebook Fanpage “ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย” Line “ร่วมปฏิรูปการศึกษา” นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      .......................................................................................

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด