สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น “อ่างขางโมเดล” ต้นแบบการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่ห่างไกล

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    

รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากครูเรียม สิงห์ทร กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “อ่างขางโมเดล ต้นแบบการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่ห่างไกล”

ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเพื่อพิจารณาการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่ห่างไกล ขอเรียนถามท่านกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (ครูเรียม สิงห์ทร) ถึงสาระสำคัญและผลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้

       
กรรมการอิสระ ฯ :
    การจัดการศึกษาในเขตพื้นที่ห่างไกลครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และโรงเรียนชายขอบในพื้นที่ห่างไกล ทั้งบนเกาะ ภูเขา และถิ่นทุรกันดาร ซึ่งการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้เชิญผู้แทนจากโรงเรียน ตชด. มาให้ข้อมูล ทำให้ทราบว่าปัญหาหลักของโรงเรียน ตชด. คือ การขาดงบประมาณและอุปกรณ์ทางการศึกษา ซึ่งโรงเรียน ฯ ได้แก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการดำเนินงานภายใต้โครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการฝึกอาชีพ และโครงการส่งเสริมสหกรณ์ ทำให้ภาระด้านค่าใช้จ่ายลดลงอีกทั้งช่วยพัฒนาทักษะของผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ กอปศ. จะนำข้อมูลที่ได้มาวางแนวทางการจัดการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
ก่อนหน้านี้มีการแถลงข่าวถึงโครงการจัดการศึกษากลุ่มโรงเรียนบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร หรือ “อ่างขางโมเดล” อยากทราบว่าโครงการดังกล่าวมีแนวทางดำเนินการอย่างไร และจะเริ่มนำมาใช้กับสถานศึกษาต่าง ๆ ในช่วงใด
       
กรรมการอิสระ ฯ :    
“อ่างขางโมเดล” เป็นกรณีศึกษาเพื่อให้เกิดแนวทางในการบริหารจัดการโรงเรียนในเขตพื้นที่สูงและห่างไกลในด้านการบริหารจัดการด้านวิชาการ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื่องจากนักเรียนในพื้นที่นี้มีพื้นฐานการสื่อสารภาษาไทยอยู่ในระดับอ่อน เพราะไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร เมื่ออยู่กับครอบครัวมักใช้ภาษาถิ่นหรือภาษาชาติพันธุ์ของตนเอง ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระวิชา รวมถึงผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ค่อนข้างต่ำกว่าเกณฑ์
 
หลักการของ “อ่างขางโมเดล” คือ การบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่มโรงเรียนเพื่อให้เป็นโรงเรียนทางเลือกสู่สัมมาชีพตามศาสตร์ของพระราชา เน้นการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิตและสมรรถนะพื้นฐานสำคัญต่อการดำรงชีพ โดยหลักสูตรต้องพัฒนาทักษะภาษาไทยให้อ่านออกเขียนได้ ส่งเสริมทักษะการประกอบอาชีพ ให้นักเรียนรู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ และรู้เท่าทันข่าวสาร โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning) เพื่อให้ผู้เรียนมีบทบาทในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างตื่นตัว   
 
ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กบนพื้นที่ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๕ โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านขอบด้ง โรงเรียนเทพศิรินทร์ ๙ โครงการหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนบ้านหลวง โรงเรียนบ้านผาแดง และโรงเรียนสันติวนา โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้กำหนดเป้าหมายที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบข้อมูลโรงเรียนและนักเรียนในทุกระดับ เพิ่มนวัตกรรมที่จำเป็น ลดข้อจำกัดของโรงเรียน และขยายผลไปสู่โรงเรียนบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดารอื่นๆ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓
       
ผู้ดำเนินรายการ :     แนวคิดใดของ “อ่างขางโมเดล” ที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบการจัดการศึกษาให้แก่สถานศึกษาอื่นในเขตพื้นที่ห่างไกล
       
กรรมการอิสระ ฯ :    
โรงเรียนในกลุ่ม “อ่างขางโมเดล” จะนำร่องใช้การประเมินผลภายใต้กรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามที่รองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมมณี ประธานคณะทำงานวางแผนการจัดทำกรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้กำหนดไว้ จำนวน ๑๐ สมรรถนะ ได้แก่ 
 
สมรรถนะที่ ๑ ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
สมรรถนะที่ ๒ คณิตศาสตร์ในชีวิตประจาวัน
สมรรถนะที่ ๓ การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์
สมรรถนะที่ ๔ ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
สมรรถนะที่ ๕ ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน
สมรรถนะที่ ๖ ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ
สมรรถนะที่ ๗ ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม
สมรรถนะที่ ๘ การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล
สมรรถนะที่ ๙ การทำงานแบบรวมพลัง เป็นทีม และภาวะผู้นำ
และสมรรถนะที่ ๑๐ พลเมืองตื่นรู้และสำนึกสากล
 
อย่างไรก็ตาม สมรรถนะทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะของตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถปรับให้เหมาะสมกับศักยภาพของเด็ก บริบทพื้นที่ และความต้องการของประเทศ โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จะขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ เพื่อสร้างเด็กไทยที่ฉลาดรู้ อยู่ดีมีสุข และมีความสามารถสูง ต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ :     โรงเรียนในกลุ่มอ่างขางโมเดลมีแนวทางการบริหารจัดการให้สามารถดำเนินงานไปสู่เป้าหมายในทิศทางเดียวกันเป็นอย่างไร 
       
กรรมการอิสระ ฯ :    
โครงการอ่างขางโมเดลเกิดจากการที่ผู้บริหารโรงเรียนทั้ง ๕ แห่ง และชุมชนโดยรอบสถานศึกษาต่างเห็นตรงกันว่า หลักสูตรการเรียนการสอนตามที่ภาครัฐกำหนดไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่ จึงได้ร่วมกันเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และพัฒนาจนเกิดอ่างขางโมเดลดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนในกลุ่มอ่างขางโมเดลจึงเป็นเครือข่ายสถานศึกษาที่เข้มแข็งและมีการดำเนินงานในทิศทางเดียวกันมาแต่เดิม โดยภาครัฐจะทำงานร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนอ่างขางโมเดล ซึ่งประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ ผู้บริหาร คณะครู ผู้แทนจากชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อวางนโยบายด้านแผนการศึกษา พิจารณาตำรา สื่อการสอน และหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษานำร่อง โดยเน้นให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้เรียนและมีธรรมาภิบาล
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (ครูเรียม สิงห์ทร) ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
กรรมการอิสระ ฯ :    
การจัดการเรียนการสอนในแต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่างกันตามอัตลักษณ์ของชุมชน ฉะนั้นจึงต้องคำนึงถึงบริบทผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งครูควรเน้นการสอนให้นักเรียนรู้ถึงทักษะชีวิตและพร้อมที่จะเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียน
 
สำหรับประชาชนที่สนใจจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org  Facebook Fanpage “ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย”  Line “ร่วมปฏิรูปการศึกษา” นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ครูเรียม สิงห์ทร กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      .......................................................................................

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด