สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น เปิด ๑๐ สมรรถนะหลัก ปั้นเด็กไทยฉลาดรู้

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากท่านรองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา  แขมมณี กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะประธานคณะทำงานวางแผนการจัดทำกรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมสนทนาประเด็น “๑๐ สมรรถนะหลัก ปั้นเด็กไทยฉลาดรู้”
 
ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้เปิดเผยถึง ๑๐ สมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้ท่านกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะประธานคณะทำงานวางแผนการจัดทำกรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมมณี) อธิบายถึงเป้าหมายและรายละเอียดของ ๑๐ สมรรถนะหลักดังกล่าว
       
ประธานคณะทำงานฯ :
   
การจัดทำกรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสืบเนื่องมาจากการค้นพบว่า ผู้เรียนจากทุกระดับการศึกษาของไทยยังขาดสมรรถนะในการนำความรู้และความเข้าใจในทักษะต่าง ๆ รวมถึงผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) และผลสอบโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) ของเด็กไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทุกรายวิชา และบางรายวิชาคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานมาก คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานวางแผนการจัดทำกรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทั้งความรู้และความเข้าใจที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้อย่างแท้จริง 
 
คณะทำงาน ฯ ดำเนินการวิจัยในเชิงต่อยอด รวบรวม และศึกษาข้อมูล เพื่อจัดทำกรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการทำงานและการเรียนรู้ จำนวน ๑๐ สมรรถนะ ได้แก่
สมรรถนะที่ ๑ ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
สมรรถนะที่ ๒ คณิตศาสตร์ในชีวิตประจาวัน
สมรรถนะที่ ๓ การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์
สมรรถนะที่ ๔ ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
สมรรถนะที่ ๕ ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน
สมรรถนะที่ ๖ ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ
สมรรถนะที่ ๗ ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม
สมรรถนะที่ ๘ การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล
สมรรถนะที่ ๙ การทำงานแบบรวมพลัง เป็นทีม และภาวะผู้นำ
และสมรรถนะที่ ๑๐ พลเมืองตื่นรู้และสำนึกสากล
       
ผู้ดำเนินรายการ :     กรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานดังกล่าวเหมาะสำหรับนักเรียนระดับชั้นใด 
       
ประธานคณะทำงานฯ :    
เบื้องต้นได้ทดลองใช้กรอบสมรรถนะหลักกับผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ – ๓ เนื่องจากหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐานระดับชั้นดังกล่าว กำหนดให้เรียน ๘ กลุ่มสาระ ซึ่งมีตัวชี้วัดจำนวนมาก ครูจำเป็นต้องเร่งสอน ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นตามความพร้อมและพัฒนาการที่แตกต่างกันของเด็ก ส่งผลให้เด็กจำนวนมากไม่ประสบความสาเร็จ ไม่มีความสุขในการเรียน อาจส่งผลกระทบทางลบต่อเจตคติที่ดีต่อตนเองของเด็ก 
 
สำหรับหลักสูตรใหม่จะเน้นสมรรถนะ ด้านการรู้ภาษา การรู้คณิตศาสตร์ และทักษะชีวิต เป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้การพัฒนาผู้เรียนในช่วงรอยเชื่อมต่อระหว่างปฐมวัยกับประถมศึกษาเป็นไปอย่างราบรื่นตามความพร้อมและพัฒนาการของผู้เรียน โดยคณะทำงาน ฯ จะนำผลที่ได้ไปปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มุ่งเน้นสมรรถนะสำหรับระดับชั้นอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ ควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ เพื่อดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ครูอาจารย์จะต้องปรับแนวทางการจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้สอดคล้องกับกรอบสมรรถนะหลักทั้ง ๑๐ สมรรถนะ 
 
       
ประธานคณะทำงานฯ :     ขณะนี้คณะทำงาน ฯ ได้จัดทำ “แนวทางการนำกรอบสมรรถนะหลักสู่การพัฒนาผู้เรียน” เป็นคู่มือสำหรับครูผู้สอนในการเชื่อมโยงสมรรถนะหลักกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆประกอบด้วย ข้อมูลแหล่งเรียนรู้ สื่อเสนอแนะ และตัวอย่างแผนการสอนตามแนวทางการนำกรอบสมรรถนะ ประกอบด้วย ๔ แนวทาง ได้แก่ ๑) งานเดิมเสริมสมรรถนะ ๒) สมรรถนะเป็นฐานผสานตัวชี้วัด ๓) บูรณาการผสานทุกสมรรถนะ และ ๔) กิจวัตรเป็นฐานผสานสมรรถนะ หลังจากการทดลองใช้คู่มือดังกล่าว คณะทำงาน ฯ จะจัดทำข้อเสนอว่าแนวทางที่คุณครูจะสามารถนำไปพัฒนาผู้เรียน ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ตามบริบทของตนเอง เพื่อตอบสนองความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติของผู้เรียนให้มากขึ้น รวมทั้งกำหนดระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินการของสถานศึกษาและผู้เรียน
       
ผู้ดำเนินรายการ :     เมื่อขับเคลื่อนสมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่การปฏิบัติ ระบบการศึกษาของชาติจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
       
ประธานคณะทำงานฯ :     กอปศ. คาดหวังว่า กรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะช่วยสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) คนไทยมีสามารถสูง (SMART THAIS) รู้จักคิดพิจารณารอบด้านสู่การแก้ปัญหา พัฒนานวัตกรรม รวมถึงรู้เท่าทันตนเอง สื่อ และสังคม  ๒) คนไทยอยู่ดีมีสุข (HAPPY THAIS) รู้จักพึ่งพาตนเอง มีทักษะการทำงาน และสร้างพื้นฐานอาชีพตามความถนัด และ ๓) คนไทยฉลาดรู้ (LITERATE THAIS) สามารถใช้ภาษาสื่อความคิดอย่างสร้างสรรค์และใช้ตรรกะคณิต - วิทย์ พิชิตปัญหาในชีวิต อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากจะต้องเกี่ยวพันกับครูอาจารย์ และนักเรียน แต่ถ้าหากสามารถทำได้ นักเรียนของเราจะมีความสามารถในเชิงสมรรถนะ ซึ่งหมายความว่า เด็กสามารถที่จะนำความรู้ความเข้าใจมาใช้ในชีวิตจริงได้ ถือเป็นประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดแก่ผู้เรียน
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะประธานคณะทำงานวางแผนการจัดทำกรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมมณี) ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ
       
 

ประธานคณะทำงานฯ :

   
อยากจะฝากถึงครูอาจารย์และพ่อแม่ผู้ปกครองว่า การที่เด็กไทยจะเป็นผู้ที่มีความสามารถทางด้านสมรรถนะสูง จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นทุกคนสามารถช่วยพัฒนาสมรรถนะเด็กได้โดยส่งเสริมให้เด็กนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนรู้หรือสิ่งต่าง ๆ ทั้งด้านการเรียนและการทำงาน เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน จะทำให้เด็กมีสมรรถนะและชีวิตคุณภาพที่ดีควบคู่ไปด้วย
 
คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องการอิสระแก่สถานศึกษา ได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org Facebook Fanpage “ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย” อีเมล [email protected] นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :
    สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมมณี กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะประธานคณะทำงานวางแผนการจัดทำกรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      *****************************************************

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด