สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกับนานาชาติจากโครงการวิจัย PISA

image

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากนายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “ประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกับนานาชาติจากโครงการวิจัย PISA”  
 
ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๑๐ - ๑๑ กันยายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดมหกรรม “ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศ” โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร) ร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษ และมีการอภิปรายแนวทางการพัฒนาการศึกษาที่น่าสนใจหลายประเด็น รวมถึงเรื่อง “ประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกับนานาชาติจากโครงการวิจัย PISA” ขอให้ท่านผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) กล่าวถึงผลการสอบ PISA ของประเทศไทย
       
ผอ. กวิน :    
โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co - operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินโครงการ PISA ในประเทศไทย 
 
การสอบ PISA จะประเมินนักเรียนอายุ ๑๕ ปี ซึ่งเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ และจัดสอบทุก ๓ ปี ในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ และเข้ารับการประเมินครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งจะทราบผลในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ทั้งนี้ ผลการสอบ PISA เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ประเทศไทยได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ในทุกรายวิชา ดังนี้ ด้านวิทยาศาสตร์ ๔๒๑ คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD ๔๙๓ คะแนน) ด้านการอ่าน ๔๐๙ คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD ๔๙๓ คะแนน) และด้านคณิตศาสตร์ ๔๑๕ คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD ๔๙๐ คะแนน) ทั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์ได้คะแนนรวมเป็นอันดับที่ ๑ จากทั้งหมด ๗๒ ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๕๕ ของโลก และเป็นอันดับที่ ๓ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศสิงคโปร์และประเทศเวียดนาม 
       
ผู้ดำเนินรายการ :      ปัจจัยใดที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์และประเทศเวียดนามมีผลการสอบ PISA อยู่ในระดับสูง และสามารถนำตัวอย่างความสำเร็จมาใช้กับประเทศไทยได้หรือไม่ อย่างไร
       
ผอ. กวิน :    
รัฐบาลสิงคโปร์ใช้งบประมาณในการลงทุนด้านการศึกษาอย่างมาก โดยเน้นการยกระดับมาตรฐานการสอน การจ้างครูด้วยค่าตอบแทนสูง และคัดเลือกครูอย่างเข้มข้นเพื่อให้ได้บุคลากรที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ ขณะที่ประเทศเวียดนามมีจุดแข็งทางวัฒนธรรมที่เน้นความมีระเบียบวินัย ทำให้ครูต้องทำงานอย่างเคร่งครัด นักเรียนมีความขยันหมั่นเพียร ประกอบกับผู้ปกครองต่างสนับสนุนบุตรหลานอย่างเต็มที่ ทำให้การศึกษาของประเทศเวียดนามประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การนำปัจจัยความสำเร็จด้านวัฒนธรรมมาปรับใช้กับสังคมไทย อาจจะต้องอาศัยระยะเวลาและกระบวนการทางสังคมที่ซับซ้อน แต่ในด้านการผลิตและพัฒนาครูถือเป็นวาระเร่งด่วนที่สามารถนำมาพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมกับนานาชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม
       
ผู้ดำเนินรายการ :
    สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาผลการสอบ PISA ของประเทศไทยอย่างไร
       
ผอ. กวิน :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะหน่วยงานกำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษา ได้นำข้อมูลจากสถาบันทดสอบต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเข้าร่วม มาวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับคะแนน รวมถึงให้ข้อมูลเรื่องวิธีวัดและประเมินผลการทดสอบรูปแบบต่าง ๆ แก่สถานศึกษา อีกทั้งยังจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนำข้อคิดที่ได้ไปจัดทำนโยบายพัฒนาการจัดการเรียนการสอน การผลิตครูผู้สอน และการสนับสนุนการศึกษาด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับการศึกษาไทยให้มีคุณภาพและมีผลการทดสอบในระดับนานาชาติที่สูงขึ้น
       
ผู้ดำเนินรายการ :     แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ มีการวัดและประเมินผลเพื่อยกระดับผลการสอบ PISA ของประเทศอย่างไร
       
ผอ. กวิน :     แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ มีตัวชี้วัดด้านคุณภาพการศึกษาที่ระบุว่า "คะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบโครงการประเมินนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ของนักเรียนอายุ ๑๕ ปี ในวิชาวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์สูงขึ้น” โดยกำหนดระยะเวลาการวัดและประเมินผลทุก ๕ ปี ตามเป้าหมายด้านการพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพและสามารถพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุขีดความสามารถเต็มตามศักยภาพ 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล)  ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ 
       
ผอ. กวิน :    

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะจัดประชุมทางวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจากผลการทดสอบ O-Net และ PISA” ในวันพุธที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๒.๐๐ น. ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี จึงขอเรียนเชิญนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ เข้าร่วมการประชุมเพื่อนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและจัดทำนโยบายด้านการศึกษาของประเทศต่อไป

สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อเสนอแนะเรื่องการทดสอบ PISA และการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สามารถส่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ นายกวิน เสือสกุล  ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
     
.......................................................................................

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด