สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น เผยโฉมร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

image

ผู้ดำเนินรายการ :

 

 

รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ นายแพทย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “เผยโฉมร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา”

ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ขอเรียนถามท่านประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์) ถึงประเด็นและเป้าหมายของร่างแผนการปฏิรูปดังกล่าว

 

 

 

 

ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจ ฯ :  

 

 

แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเป็นภารกิจหลักประการหนึ่งของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งได้จัดประชุมทบทวนสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงเชิญผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา รวมถึงร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่ประกอบด้วย ๖ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 
๑) การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ และกฎหมายลำดับรอง 
๒) การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน 
๓) การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
๔) การปฏิรูปกลไกและระบบผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์
๕) การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ 
และ ๖) การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :

 

 

ขอให้ท่านประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์) อธิบายถึงเป้าหมายและรายละเอียดของร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในแต่ละประเด็น

 

 

 

 

ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจ ฯ :

 

 

ร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในแต่ละเรื่องมีการกำหนดประเด็นการปฏิรูป เป้าหมาย กิจกรรม และตัวชี้วัด ซึ่งมีสังเขปดังนี้ 

 

เรื่องที่ ๑) ระบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ และกฎหมายลำดับรอง เป็นการขับเคลื่อนให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อเป็นกลไกสำคัญต่อการบริหารและจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพอย่างเหมาะสม ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ปรับปรุงจาก พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยยังคงจุดเด่นและปรับข้อบังคับที่เป็นอุปสรรค เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ อีกทั้งสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน เพื่อจัดการศึกษาที่สนับสนุนให้คนไทยทุกช่วงวัยสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

 

เรื่องที่ ๒) การพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน เน้นการดูแลเด็กปฐมวัย ทั้งเด็กกลุ่มปกติ และกลุ่มที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ รวมถึงมีระบบคัดเลือกเด็กเข้าเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ และมีระบบฐานข้อมูลที่เอื้อต่อการดูแลที่เชื่อมโยงกันได้ระหว่างหน่วยงาน และต้องเพิ่มการสื่อสารภาคประชาสังคมเพื่อให้ผู้ปกครองและบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ การเลี้ยงดู และพัฒนาเด็กปฐมวัย

 

เรื่องที่ ๓) การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะดำเนินการควบคู่กับการขับเคลื่อนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาให้สามารถเข้าถึงเด็กด้อยโอกาส เด็กที่มีฐานะยากจน หรือเด็กที่ต้องออกจากระบบการศึกษา รวมถึงเยาวชนทุกคนให้ได้รับการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพและไม่เก็บค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ จะมีระบบคัดกรองบุคคลพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และบุคคลที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพ

 

เรื่องที่ ๔) กลไกและระบบผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ มีประเด็นปฏิรูป ๔ ด้าน ได้แก่ ๑) การผลิตและคัดกรองครู ๒) การพัฒนาวิชาชีพ ๓) เส้นทางวิชาชีพครู และ ๔) องค์กรวิชาชีพครู และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจัดตั้งกองทุนผลิตและพัฒนาครู เพื่อคัดกรองครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพในการผลิตครู เพื่อให้ผู้ได้รับทุนการศึกษาสามารถเป็นครูที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของประเทศ ทั้งนี้ จะต้องมีระบบข้อมูลครู (Teacher Data System) เพื่อรวบรวมข้อมูลการผลิต การใช้ และการคาดการณ์อัตรากำลังครูในสาขาที่ขาดแคลน

 

เรื่องที่ ๕) การจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นการปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency - based Curriculum) เริ่มระยะเร่งด่วนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ - ๓ โดยดำเนินการผ่านสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ และใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (National Digital Learning Platform) เพื่อถ่ายทอดแนวปฏิบัติเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ให้เกิดผลเร็วที่สุด การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนยังรวมถึงระบบประเมินคุณภาพการศึกษา ระบบสวัสดิภาพของผู้เรียน การปฏิรูปอาชีวศึกษา และการปฏิรูปอุดมศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

เรื่องที่ ๖) การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน มีเป้าหมายเพื่อปรับบทบาทหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานเดิมให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งอาจมีโครงสร้างบางส่วนที่เปลี่ยนแปลง เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ การให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหารและจัดการศึกษา การจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา (Big Data in Education) และจัดตั้งเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อผู้เรียนในพื้นที่เฉพาะ 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :

 

 

ขณะนี้ร่างแผนการปฏิรูปประเทศดังกล่าวมีการดำเนินงานในขั้นตอนใด 

 

 

 

 


ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจ ฯ :

 

 

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้เผยแพร่ร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเพื่อให้ประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ www.thaiedreform.org โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดและแสดงความคิดเห็นได้ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาจะนำข้อเสนอที่ได้มาปรับปรุงร่างแผนการปฏิรูป ฯ เพื่อให้ที่ประชุม กอปศ. พิจารณาอีกครั้งก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ภายในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๑ 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :

 

 

สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์) ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ

 

 

 

 

ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจ ฯ :

 

 

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขอเชิญชวนทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org  Facebook Fanpage “ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย”  Line “ร่วมปฏิรูปการศึกษา” 

 

นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์  www.onec.go.th และ Facebook Fanpage“เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ : 

 

 

สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์  ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา

 

 

 

.......................................................................................

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด