สกศ.บูรณาการความร่วมมือด้านการศึกษา : ภาคเหนือ เพื่อขับเคลื่อนบทบาทภารกิจของภาครัฐสู่ระบบราชการ ๔.๐

image

              วันที่ (๒ สิงหาคม ๒๕๖๑) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าสู่ระบบราชการ ๔.๐ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและมอบนโยบายให้กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สกศ. ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การบูรณาการความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนบทบาทภารกิจของภาครัฐสู่ระบบราชการ ๔.๐” โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ และพระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ ให้การต้อนรับพร้อมกล่าวเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอภิปรายประกอบด้วย พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ รองศาสตราจารย์ นพ.สมชาติ โตรักษา ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ดร.ศิริพันธ์ ขวัญอ่อน ศึกษาธิการจังหวัดแพร่ และนางพิจารณา ศิริชานนท์ นักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สกศ. เป็นผู้ดำเนินการประชุม ณ โรงแรมแพร่นครา จังหวัดแพร่

              นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การขับเคลื่อนบทบาทภารกิจของภาครัฐสู่ระบบราชการ ๔.๐ หัวใจสำคัญอยู่ที่ภาครัฐต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความคาดหวังของประชาชนให้มากขึ้น ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้ประชาชนไว้วางใจภาครัฐมากขึ้น ประกอบด้วย ๓ ส่วน ได้แก่ ๑. การบูรณาการร่วมกัน แต่ยังขาดการร่วมมืออย่างจริงจัง ดังนั้นต้องมีการวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ภาครัฐดำเนินการว่ายังขาดเรื่องใดเพื่อนำมาปรับให้สมบูรณ์ ๒. นวัตกรรม ทำเรื่องใดก็ได้ที่ปรับแล้วส่งผลต่อการทำงานให้ดีกว่าเดิม ๓. ระบบดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งทุกส่วนราชการพยายามทำเรื่องนี้ให้ครบ และในจังหวัดแพร่ได้ขับเคลื่อนปัญหาระดับชาติ ๓ เรื่อง ได้แก่ ยาเสพติด การลดอุบัติเหตุ และขยะ ใช้หลักกลยุทธ์โบราณ “บ้านวัดโรงเรียน” ในการบูรณาการขับเคลื่อนงานทุกอย่าง สังคมไทยถูกปลูกฝังเติบโตมากับสิ่งเหล่านี้ 


              นางพิจารณา ศิริชานนท์ นักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ สกศ. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่ สกศ. ลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของทุกภาคส่วนของราชการที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ร่วมกันบริหารการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนบทบาทภารกิจของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าสู่ระบบราชการ ๔.๐ การปฏิรูประบบราชการเพื่อรองรับ Thailand ๔.๐ เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ มีหน่วยงานภาคราชการ ผู้บริหาร บุคลากรจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภาคส่วนราชการจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ น่าน พะเยา เชียงใหม่ ลำปาง เพชรบูรณ์ ตาก พิษณุโลก ลำพูน อาทิ สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาชุมชน สำนักงานแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานพระพุทธศาสนา สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด มหาวิทยาลัย วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยนาฏศิลป์ วิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี โรงเรียน สถาบันการพลศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษ ศูนย์บริการคนพิการ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง บ้านพักเด็กและครอบครัว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน มากกว่า ๑๒๐ คน
พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง กล่าวว่า เราต้องปฏิรูปตนเองและพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยวิธีการใช้นวัตกรรมมาบูรณาการทั้งของเก่าและของใหม่ รัฐบาลต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อตอบโจทย์ระบบราชการ ๔.๐ ยุคดิจิตอล สนับสนุนจัดสรรงบประมาณของส่วนราชการ มีผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์องค์ความรู้ พิจารณาข้อกฎหมายที่ยังติดขัดไม่เปิดกว้างระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณ และต้องค้นหาโมเดลเพื่อเป็นต้นแบบในการทำงาน บุคลากรที่ทำงานระบบราชการ ต้องมีวิสัยทัศน์เป้าหมายที่ชัดเจน ทำงานอยู่ที่หัวใจ สร้างเครือข่ายติดต่อสื่อสาร และพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า ตกผลึกองค์ความรู้ เพื่อนำมาต่อยอดองค์ความรู้ 

              รองศาสตราจารย์ นพ.สมชาติ โตรักษา ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ระบบราชการ ๔.๐ มีการกำหนดตัวชี้วัดจำเป็นต้องใช้การวิจัยเป็นฐาน เป็นวิจัยเชิงบูรณาการทุกภาคส่วน เชื่อมโยงตามบริบทของแต่ละชุมชนพื้นที่ งานวิจัยที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีและสอดคล้องกับงานตามภารกิจหลัก บูรณาการจากทุกภาคส่วนของสังคม ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาค NGO และภาคประชาชน ทั้งนี้ต้องปรับวิธีการปฏิบัติงาน เมื่อส่วนกลางมีนโยบายแล้วต้องติดตามโดยการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้นำสู่การปฏิบัติได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง ประเทศไทยมีสิ่งที่อยู่ในแต่ละพื้นที่มาก เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน โรงเรียนต้นแบบ แต่ต้องพัฒนาให้ถูกทิศทาง ทำให้ต่อเนื่องและนำไปสู่ความยั่งยืน โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน หลักการจัดการความรู้ KM พัฒนาโมเดลรูปแบบ/ต้นแบบ ให้ศึกษาเรียนรู้ขยายผลและต่อยอด ทั้งนี้ยึดผลประโยชน์ต่อประชาชนเป็นศูนย์กลาง
 

              ดร.ศิริพันธ์ ขวัญอ่อน ศึกษาธิการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การศึกษามีความสำคัญในการสร้างคน บทบาทราชการกระทรวงศึกษาธิการจะต้องเข้าสู่ระบบราชการ ๔.๐ เป้าหมายอยู่ที่ต้องปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับยุคศตวรรษที่ ๒๑ มีการพัฒนาเรื่องทักษะเป็นหลัก การเรียนการสอนที่ไม่เน้นแบบท่องจำ ขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาคนให้มีความพร้อมเรื่อง STEM Education และการทำให้โรงเรียนไปสู่ระบบราชการ ๔.๐ โรงเรียนต้องปรับขนานใหญ่ ทั้งการบริหารจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอนของครูให้เป็น Active Learning มากขึ้น การบริการ และ My Set ต้องกลับมาคิดทบทวนกระบวนการทำงานที่ผ่านมาโดยใช้หลักธรรมาภิบาล มีการบูรณาการร่วมกันให้มากขึ้น และมีกฎหมายที่ต้องเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ภาคราชการด้วย 


              สำหรับภาคบ่าย มีการแบ่งกลุ่มประเด็นอภิปราย “บทบาทของภาครัฐกับการปฏิรูปการศึกษา” ๙ กลุ่ม ดังนี้ Good Practice ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนระดับก่อนประถมศึกษาหรือระดับประถมศึกษา โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา สถาบันอุดมศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม สถานศึกษาด้านศิลปะ วัฒนธรรม สถานศึกษาด้านกีฬา และสถานศึกษาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และประเด็นข้อมูลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะนำไปสังเคราะห์รวมกับอีก ๓ ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการด้านการศึกษาทั้งองค์การรองรับระบบราชการ ๔.๐ เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ประเทศต่อไป

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด