สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น “เจาะลึก ทุกแง่มุมเด็กปฐมวัยในสังคมไทยยุคใหม่”

image

ผู้ดำเนินรายการ :     

รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และรองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก ร่วมสนทนาประเด็น “เจาะลึก ทุกแง่มุมเด็กปฐมวัยในสังคมไทยยุคใหม่”

สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กปฐมวัยในปัจจุบันเป็นอย่างไร และกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้านใดที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นอย่างยิ่ง 

       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :      สภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อเด็กปฐมวัยอย่างเด่นชัด ดังนี้ ๑) เด็กไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ถูกทอดทิ้ง หรือถูกทำร้าย ๒) สภาพเศรษฐกิจทำให้พ่อแม่จำเป็นต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวทั้งสองคน ไม่สามารถดูแลลูกได้ จึงมักส่งให้ปู่ย่าตายายที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดเป็นผู้เลี้ยงดู ทำให้เด็กบางส่วนไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง ทั้งด้านสุขภาวะ โภชนาการ และ ๓) ปัญหาคุณแม่วัยใส ทำให้มีเด็กที่เกิดจากคุณแม่วัยรุ่น อายุประมาณ ๑๒ - ๑๙ ปี ประมาณ ๑ แสนคนต่อปี คุณแม่กลุ่มนี้มักไม่ได้ดูแลครรภ์เป็นอย่างดี เพราะมีภาวะเครียดและภาวะซึมเศร้า จึงส่งผลกระทบต่อเด็ก ตั้งแต่การให้นมลูก การเลี้ยงดู การสร้างพัฒนาการให้แก่เด็ก ทั้งนี้ เด็กปฐมวัย หมายถึง เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ ๘ ขวบ รวมถึงทารกที่อยู่ในครรรภ์มารดา จึงกล่าวได้ว่าวัยนี้ถือเป็นรากฐานของชีวิตมนุษย์  ผลการวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. เจมส์ เจ เฮกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ระบุชัดเจนว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยจะได้ผลคุ้มค่าถึง ๗ เท่าของการลงทุนด้านการศึกษาในระดับอื่น ๆ เพราะเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการทางสมองรวดเร็วมาก ดังนั้น การที่เด็กถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้าย หรือไม่ได้รับการตอบสนองเพื่อกระตุ้นพัฒนาการใหเหมาะสมตามช่วงวัย จะทำให้สมองของเด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ เมื่อเด็กกลุ่มนี้เติบโตขึ้นอาจมีผลการเรียนหรือทักษะทางสังคมในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ปัญหาเหล่านี้ยังส่งผลต่อความมั่นคง เพราะทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อการสร้างความมั่นคงของชาติ ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน 
       
 
ผู้ดำเนินรายการ : 
    ปัญหาของคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ที่นิยมเลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์มือถือ หรือเปิดโทรทัศน์ให้ลูกดู จะแก้ไขอย่างไร
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :       ประเด็นนี้น่ากังวลอย่างมาก จะเห็นได้ว่า ล่าสุดประเทศฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามเด็กใช้โทรศัพท์มือถือในสถานศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ในประเทศไทยสถานศึกษาที่เปิดสอนระดับอนุบาลไม่ควรให้เด็กเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน พ่อแม่เป็นแบบอย่างโดยต้องเลิกพฤติกรรมที่หยิบยื่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้แก่เด็กในวัยนี้ เพราะเด็กจะไม่ได้อยู่ในโลกของความเป็นจริงและขาดความเข้าใจต่อสังคมอีกหลายด้าน พ่อแม่ต้องเล่นกับลูก ไม่ให้เด็กฟังนิทานในมือถือ แต่ต้องเล่านิทานให้ลูกฟังเอง
       
ผู้ดำเนินรายการ :  
    ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมายในปัจจุบันเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาเด็กปฐมวัยอย่างไร
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  :      ขณะนี้คณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฐมวัยแห่งชาติไปยังคณะรัฐมนตรีแล้ว นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ๑) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเริ่มดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยให้ความรู้แก่คุณแม่ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ส่งเสริมโภชนาการที่ถูกต้อง และการดูแลสุขภาพจิตที่ดีของคุณแม่ ๒) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีบทบาทสำคัญด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่ยากจนและประสบปัญหาทางสังคมด้านต่าง ๆ ๓) กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้อยู่ท่ามกลางชุมชนที่ปลอดภัย และ ๔) กระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่ดูแลเด็กปฐมวัยเมื่อเข้าสู่ระบบการเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ทั้ง ๔ กระทรวงยังไม่สามารถบูรณาการข้อมูลและการทำงานได้อย่างคล่องตัว และไม่มีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน ร่าง พ.ร.บ. การปฐมวัยแห่งชาติ จึงถือเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาเด็กปฐมวัย และช่วยบูรณาการงานจากทั้ง ๔ กระทรวง รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังระบุถึงการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักด้านประสานงานและดูแลการจัดทำงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยให้มีรูปแบบเดียวกัน อีกทั้งยังเน้นให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการวางแนวทางพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างถูกต้องและเป็นรูปธรรม
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ประชาชนควรปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างไร เพื่อช่วยลดทอนปัญหาและส่งเสริมคุณภาพเด็กปฐมวัยในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
       
 
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา : 
    ร่างพระราชบัญญัติการปฐมวัยปฐมวัยแห่งชาติ ระบุอย่างชัดเจนว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันในการส่งเสริมความเข้มแข็งให้ครอบครัวมีศักยภาพในการเลี้ยงดูเด็ก ภาครัฐต้องสร้างการตระหนักรู้ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวมีความรู้และความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยอย่างถูกต้อง ส่วนกรณีที่เด็กจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของปู่ย่าตายายที่ต่างจังหวัดนั้น เริ่มมีการทำงานวิจัยกับปู่ย่าตายายในพื้นที่ โดยนักวิจัยลงพื้นที่ไปสอนและฝึกอบรมให้ประชาชนทราบถึงวิธีการดูแลสุขอนามัยและการจัดโภชนาการให้แก่บุตรหลาน ทำให้ปู่ย่าตายายได้ทราบว่าวิธีการที่เลี้ยงดูที่ไม่ได้เล่นกับเด็ก ทำให้พัฒนาการทางสมองช้าลง แนวทางดังกล่าวช่วยเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องด้านอื่น ๆ ด้วย อาทิ การที่พ่อแม่จำนวนมากมักเร่งให้ลูกอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่เรียนระดับอนุบาล ทั้งที่การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กช่วงวัยนี้เกิดจากการเล่น การออกกำลังกาย การเรียนรู้แบบ Active Learning ทำให้เด็กมีความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง ปัจจัยนี้นำไปสู่การยกเลิกสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่สร้างความเครียดให้แก่เด็กปฐมวัย สิ่งสำคัญที่สังคมต้องร่วมมือกันสร้างเด็กของเราให้เติบโตสมวัย ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นซึ่งนอกจากเสริมพัฒนาการทางสมองและร่างกายแล้ว ยังช่วยปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่เด็กด้วย
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านรองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และรองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก (รองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ) ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา   :      

เด็กปฐมวัยเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศ เด็กปฐมวัยทุกคนไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ใด มีสภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวอย่างไร ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จะต้องช่วยกันดูแลให้เด็กเหล่านี้ได้รับการปกป้องคุ้มครอง มีพัฒนาการสมวัย และเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง ทำให้มีฐานในการพัฒนาตนเองและเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

 สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของเด็กปฐมวัย สามารถส่งความคิดเห็นได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org  Facebook Fanpage “ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย” อีเมล [email protected] นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage“เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาและรองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก  ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      .......................................................................................

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด