สกศ.บูรณาการความร่วมมือด้านการศึกษา : ภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนบทบาทภารกิจของภาครัฐสู่ระบบราชการ ๔.๐

image

 

              วันที่ (๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าสู่ระบบราชการ ๔.๐ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและมอบนโยบายให้กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สกศ. ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การบูรณาการความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนบทบาทภารกิจของภาครัฐสู่ระบบราชการ ๔.๐” จึงได้มอบหมายให้ นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษากล่าวเปิดการประชุม โดยมี นายสกล จันทรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช บรรยายพิเศษเรื่อง การบูรณาการความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนบทบาทภารกิจภาครัฐสู่ระบบราชการ ๔.๐ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช วิทยากรอภิปรายประกอบด้วย นางพรทิพย์  แก้วมูลคำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. นายเจียร ทองนุ่น ศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายนิวรณ์  แสงวิสุทธิ์ รองศึกษาธิการจังหวัด รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดตรัง และนางพิจารณา ศิริชานนท์ นักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สกศ. เป็นผู้ดำเนินการประชุม ณ โรงแรม อีโค่ อินน์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

 

           นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ระบบราชการ ๔.๐ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ต้องขับเคลื่อนบนฐานการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเศรษฐกิจพอเพียง การขับเคลื่อนนวัตกรรม ขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิตอล และก่อนที่จะดำเนินการขับเคลื่อนภาคใหญ่ต้องมีการระดมความร่วมมือในการขับเคลื่อน ประสานงาน การระดมทรัพยากร และการทำงานที่ยึดหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส คำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยส่วนราชการต้องปรับตามบริบท และความพร้อมแต่ละพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามามีผลในวิถีชีวิต วิถีการทำงาน การศึกษาเรียนรู้ที่หลากหลายตามทรัพยากรที่มีอยู่ ขณะที่ส่วนกลางกำลังปรับปรุงกฎหมายใหม่ให้ทันสมัยเพื่อรองรับการขับเคลื่อนพัฒนาต่อไป สกศ. มีภารกิจที่สำคัญ คือ แผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นการบริหารยุทธศาสตร์ภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สกศ. จะนำความคิดเห็น เพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบาย ความร่วมมือกับบทบาทภารกิจภาครัฐ ๔.๐ ต่อไป

 

 

             นางพิจารณา ศิริชานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สกศ. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของทุกภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา เพื่อร่วมกันบริหารการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนบทบาทภารกิจภาครัฐไปสู่ระบบราชการ ๔.๐ โดยมีหน่วยงาน ผู้บริหาร และบุคลากรจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ภาคส่วนราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา อาทิ สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงาน กศน. มหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยนาฏศิลป์ โรงเรียนกีฬา โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนพระปริยัติธรรมสามัญ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ศูนย์การศึกษาพิเศษ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จำนวนมากกว่า ๗๐ คน
 
             นายสกล จันทรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช บรรยายพิเศษ การบูรณาการความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนบทบาทภารกิจภาครัฐสู่ระบบราชการ ๔.๐ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวตอนหนึ่งว่า สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนไทยเกิดน้อยลง ดังนั้น สถาบันการศึกษาควรให้ครูอาจารย์ให้ความสำคัญ เรื่องความมีวินัย ความรับผิดชอบ ความอดทน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความกตัญญูกตเวที ไอคิวและอีคิว การสอนแบบวิเคราะห์ สังเคราะห์ สอนให้เด็กเป็นคนเก่งคนดี การอยู่ร่วมกันในสังคม การสอนวิชาประวัติศาสตร์ปลูกฝังให้เด็กรักชาติบ้านเมือง การฝึกพูดภาษาอังกฤษ จีน พม่า ควรมองบริบทสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาเป็นปัจจัยในการทำหลักสูตรการศึกษา สังคมที่กำลังเข้าสู่นวัตกรรมแต่มีอีกสังคมที่กำลังย้อนกลับมาดูสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ความเป็นนวัตกรรมใหม่ต้องผสมผสานกันต้องมองความเป็นธรรมชาติ คำนึงถึงเป็นความเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ควบคู่ไปด้วย
 
             นางพรทิพย์  แก้วมูลคำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. กล่าวว่า การเปิดระบบราชการ ๔.๐ การขับเคลื่อนระบบราชการมีกรอบทิศทางชัดเจน ระบบราชการที่เปิดกว้าง ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง บุคลากรรัฐมีสมรรถนะมีประสิทธิภาพสูง ต้องปรับตัวต้องพัฒนา สร้างบุคลากรในองค์กรให้มีความเข้าใจนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลง องค์กรต้องปรับตัวต้องพัฒนา ปรับระบบวิธีการทำงาน ปรับนวัตกรรมขององค์กร ให้ความสำคัญกับภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม สานพลังความร่วมมือกับทุกภาคส่วน การสานพลังประชารัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคราชการ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น รวมถึงการทำงานในอนาคต ส่วนการศึกษาต้องให้ความสำคัญเรื่องการนำนวัตกรรมมาใช้ ส่งเสริมให้เด็กไทยในอนาคตมีความรู้เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในอนาคต  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามามีบทบาทร่วม การเปลี่ยนแปลงนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด 
 
             สำหรับภาคบ่าย มีการแบ่งกลุ่มประเด็นอภิปราย “บทบาทของภาครัฐกับการปฏิรูปการศึกษา” ๙ กลุ่ม ดังนี้ Good Practice ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนระดับก่อนประถมศึกษาหรือระดับประถมศึกษา โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา สถาบันอุดมศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม สถานศึกษาด้านศิลปะ วัฒนธรรม สถานศึกษาด้านกีฬา และสถานศึกษาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และประเด็นข้อมูลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะนำไปสังเคราะห์รวมกับอีก ๓ ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดแพร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการด้านการศึกษาทั้งองค์การรองรับระบบราชการ ๔.๐ เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ประเทศต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด