สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น “โรงเรียนร่วมพัฒนา” อนาคตใหม่ของการศึกษาไทย

image

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากนายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมสนทนาประเด็น “โรงเรียนร่วมพัฒนา : พลังขับเคลื่อนจากเอกชน (Partnership School)”  
 
ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมทางวิชาการ เรื่อง “โรงเรียนร่วมพัฒนา : พลังขับเคลื่อนจากเอกชน (Partnership School)” ขอให้ท่านผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) อธิบายถึงความหมายของ “โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School)”  และวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้
       
ผอ. กวิน :    
ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายประเทศไทย ๔.๐ ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ และให้เริ่มในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑ ปัจจุบันมีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำนวน ๔๒ แห่ง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวม ๓๑ จังหวัด โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการบริหารจัดการและสนับสนุนสถานศึกษาภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพและสร้างสรรค์นวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษา ให้สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเตรียมความพร้อมในอนาคตให้แก่ผู้เรียน โครงการนี้ยังมุ่งหวังให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชน เป็นศูนย์กลางการพัฒนาทักษะ คุณภาพชีวิต ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าหากสถานศึกษาได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ในที่สุด 
 
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะหน่วยงานกำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษา เห็นถึงความสำคัญของโรงเรียนร่วมพัฒนาที่เป็นอนาคตใหม่ของการศึกษาไทย จึงเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ และได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานกรรมการดำเนินงานพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา นายจีรเดช อู่สวัสดิ์ กรรมการและที่ปรึกษา บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายสมจันทร์ พรบุญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านภูดิน (มิตรผลอุปถัมภ์) จังหวัดชัยภูมิ ทั้งนี้ สกศ. จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้มาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติต่อไป 
       
ผู้ดำเนินรายการ :
    ขอให้ท่านผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) อธิบายถึงแนวทางบริหารจัดการโรงเรียนร่วมพัฒนา และยกตัวอย่างโรงเรียนร่วมพัฒนาที่ดำเนินการในปัจจุบัน 
       
ผอ. กวิน :    
โรงเรียนร่วมพัฒนามีสถานะเป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่การบริหารงานจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้มีส่วนร่วมระดับท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยภาคเอกชน ผู้นำระดับท้องถิ่น ชุมชน ผู้ปกครอง และมหาวิทยาลัยในพื้นที่นั้น ๆ โดยเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและภาคเอกชนผู้สนับสนุน ๑๑ แห่ง อาทิ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ภาคเอกชนสามารถร่วมบริหารจัดการโรงเรียนใน ๔ ด้าน ได้แก่ การบริหารงานบุคคล การบริหารทรัพยากร งบประมาณ และวิชาการ ทั้งนี้ ยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่สามารถเพิ่มวิชาเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้ เช่น การทำฟาร์มเกษตร และการฝึกปฏิบัติพยาบาลที่สถานพยาบาลชุมชน  
 
การประชุมในครั้งนี้ได้เชิญนายสมจันทร์ พรบุญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านภูดิน (มิตรผลอุปถัมภ์)จังหวัดชัยภูมิ มาบรรยายถึงแนวทางการบริหารงานร่วมกับภาคเอกชน ทำให้ทราบว่าโรงเรียนได้รับการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ การก่อสร้างอาคารเรียน และการเข้าร่วมกิจกรรม Mitrphol Partnership School Workshop ซึ่งบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้เชิญผู้บริหารโรงเรียน ตัวแทนครู ตัวแทนชุมชนของโรงเรียนร่วมพัฒนาที่กลุ่มมิตรผลให้การสนับสนุน มาวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาและมุ่งสู่การสร้างสถานศึกษาให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกด้านให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง 
       
ผู้ดำเนินรายการ :
    ภาคเอกชนสามารถร่วมบริหารงานบุคคลในรูปแบบใด และจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการเป็นภาคีโรงเรียนร่วมพัฒนาในด้านใดบ้าง 
       
ผอ. กวิน :     สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และเลขาธิการคณะกรรมการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้หารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางบริหารงานบุคคลของโรงเรียนร่วมพัฒนา โดยอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถร่วมกำหนดการจ้างครูใหม่ รวมถึงกำหนดคุณสมบัติผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งต้องอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา ๔ ปีอย่างต่อเนื่อง และได้รับเงินเดือนในอัตราเดิม แต่หากมีผลงานตามเป้าหมาย ทั้งในเรื่องคุณภาพของผู้เรียนและการสร้างระบบที่ดีจนสามารถเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่นได้ อาจมีการให้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมได้ ส่วนการเลื่อนวิทยฐานะยังคงใช้ตามระเบียบเดิม แต่ครูสามารถนำแนวคิดในการพัฒนางานใหม่มาบันทึกเป็นภาระงานได้ โดยภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าว สามารถนำเงินบริจาคไปลดหย่อนภาษีได้ ๒ เท่า ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนที่คณะกรรมการโรงเรียนร่วมพัฒนากำหนด และต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและนักเรียนเป็นหลัก ไม่ได้นำเรื่องเงินมาเป็นตัวชี้วัดแต่อย่างใด
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล)  ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ 
       
ผอ. กวิน :    
โรงเรียนร่วมพัฒนาถือเป็นนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่ให้ความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ซึ่งภาครัฐเชื่อว่า โครงการนี้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) และนำไปสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาได้อีกด้วย 
สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อเสนอแนะเรื่องโรงเรียนร่วมพัฒนาและการปฏิรูปการศึกษาด้านอื่น สามารถส่งความความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :      สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ นายกวิน เสือสกุล  ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      .......................................................................................

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด