สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น เจาะแก่นแนวทางปฏิรูปความเป็นอิสระของสถานศึกษา

image

ผู้ดำเนินรายการ :

 

 

รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ  ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “เจาะแก่นแนวทางปฏิรูปความเป็นอิสระของสถานศึกษา” 

ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยที่ประชุมร่วมกันพิจารณามาตรการส่งเสริมความเป็นอิสระของสถานศึกษา ขอให้ท่านประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ) อธิบายถึงแนวคิดเรื่อง “ความเป็นอิสระของสถานศึกษา” คืออะไร และมีการบริหารจัดการในรูปแบบใด

 

 

 

 

ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้าง ฯ :

 

 

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการให้ความเป็นอิสระแก่สถานศึกษา ทั้งจากการสอบถามจากผู้บริหารสถานศึกษา การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปกครอง รวมถึงงานวิจัยต่าง ๆ พบว่า ความเป็นอิสระของสถานศึกษาใช้การบริหารจัดการแบบ School – based Management (SBM) ซึ่งเป็นการถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจในการบริหารจัดการสถานศึกษาอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบนโยบายการกระจายอำนาจที่ชัดเจนของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถของผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน เป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปสถานศึกษาคือ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนดีขึ้น การให้ความเป็นอิสระแก่สถานศึกษาแบ่งเป็น ๔ ด้าน ได้แก่ การบริหารทั่วไป วิชาการ งบประมาณ และการบริหารงานบุคคล โดยสถานศึกษาที่เข้าร่วมแนวทางดังกล่าว อาจได้ความเป็นอิสระด้านใดด้านหนึ่งหรือครบทุกด้านขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาแต่ละแห่ง 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :

 

 

สถานการณ์ความเป็นอิสระของสถานศึกษาในประเทศไทยเป็นอย่างไร และหลักการพิจารณาให้ความเป็นอิสระแก่สถานศึกษาเป็นอย่างไร

 

 

 

 

ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้าง ฯ :

 

 

ปัจจุบันมีสถานศึกษาของประเทศไทยที่บริหารจัดการอย่างเป็นอิสระ ทั้งหมด ๓ ประเภท ได้แก่ ๑) สถานศึกษานิติบุคคลที่มีอิสระอย่างเต็มที่ (Full Autonomy) จัดตั้งขึ้นตามอำนาจกฎหมายระดับพระราชกฤษฎีกาที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ๒) สถานศึกษาที่มีอิสระในการบริหารจัดการบางส่วน (Partial Autonomy) จัดตั้งขึ้นตามอำนาจกฎหมายระดับรองลงมาเป็นการเฉพาะ เช่น กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย และ ๓) สถานศึกษาที่มีอิสระตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ (Limited Autonomy)นอกจากนี้ ยังมีสถานศึกษารูปแบบอื่นที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระ อาทิ โรงเรียนร่วมพัฒนา โรงเรียนประชารัฐ และโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษานวัตกรรมการศึกษาพิเศษ จังหวัดระยอง

หลักการพิจารณาให้ความเป็นอิสระแก่สถานศึกษาขึ้นอยู่กับ ๑) ความพร้อมของสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาเป็นผู้ประเมินความพร้อมและแจ้งขอใช้หลักบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระด้านใดด้านหนึ่งหรือครบทุกด้าน ๒) ความจำเป็นของสถานศึกษา ใช้ในกรณีที่สถานศึกษาอาจไม่มีความพร้อมที่จะได้รับความเป็นอิสระ แต่หน่วยงานภาครัฐหรือภาคประชาสังคมเห็นว่า สถานศึกษากลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ ไม่ฉะนั้นจะไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ เช่น กลุ่มโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :

 

 

หลังจากนี้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในสถานศึกษาได้อย่างแท้จริง

 

 

 

 

ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้าง ฯ :

 

 

คณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้ศึกษาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และกฎกระทรวงหลายฉบับ พบว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้อิสระแก่สถานศึกษามีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดนำออกมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงเสนอให้บัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการส่งเสริมความเป็นอิสระของสถานศึกษา ในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... มาตราที่ ๓๙ และ ๔๒ รวมถึงแผนปฏิรูปการศึกษา และอาจจัดทำข้อเสนอแนะอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาล เพื่อให้จัดตั้งหรือยกระดับหน่วยงานที่มีอยู่ให้เป็นผู้รับผิดชอบนโยบายการให้อิสระแก่สถานศึกษาอย่างจริงจัง นอกจากนี้ จะจัดการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว เพื่อสอบถามประชาชนถึงรูปแบบการปฏิรูปสถานศึกษาตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาร่างไว้ ว่ามีความครบถ้วนหรือไม่อย่างไร  

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :

 

 

สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ)  ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ 

 

 

 

 

ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้าง ฯ :

 

 

สิ่งสำคัญของการปฏิรูปสถานศึกษาในครั้งนี้คือ ต้องกำจัดปัจจัยล้มเหลวไม่ให้ขัดขวางปัจจัยความสำเร็จของการปฏิรูปสถานศึกษา ปัจจัยความล้มเหลวที่น่ากังวลคือ การเมืองที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่เปลี่ยนตามผู้บริหารหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ ทั้งนี้ ควรพิจารณาลำดับความสำคัญระหว่างการส่งเสริมและความเป็นอิสระของสถานศึกษา การส่งเสริมศักยภาพผู้นำสถานศึกษาและครูผู้สอน เพื่อให้ระบบการบริหารจัดการสถานศึกษาดำเนินการได้อย่างราบรื่น

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องการอิสระแก่สถานศึกษา ได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org Facebook Fanpage “ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย” อีเมล [email protected] นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage“เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ   : 

 

 

สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา

 

 

 

......................................................................................

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด