สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น อัพเดทผลงานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาครบปี

image

 

 

 
ผู้ดำเนินรายการ :
   
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “อัพเดทผลงานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาครบปี”
 
ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดแถลงข่าวผลงานในรอบ ๑ ปี ของ กอปศ. ขอให้ท่านรองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (รองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ) กล่าวถึงความก้าวหน้าหรือแนวทางในการดำเนินงานของแต่ละคณะอนุกรรมการ กอปศ. ตลอดระยะเวลา ๑ ปีที่ผ่านมา
       
 
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :
   
ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐ กอปศ. ได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึก ทั้งจากการลงพื้นที่และรายงานการวิจัยของคณะทำงานต่าง ๆ ทำให้ทราบถึงสถานการณ์การศึกษาไทยว่ามีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขในหลายประเด็น กอปศ. จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ๑๑ คณะ ได้แก่ 
 
 
๑)  คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก โดยมี ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน
๒)  คณะอนุกรรมการกองทุน  โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน
๓)  คณะอนุกรรมการครูและอาจารย์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริเดช สุชีวะ เป็นประธาน
๔)  คณะอนุกรรมการจัดการเรียนการสอน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ เป็นประธาน 
๕)  คณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ เป็นประธาน 
๖)  คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น โดยมี นายตวง อันทะไชย เป็นประธาน
๗)  คณะอนุกรรมการสื่อสารสังคม โดยมี ดร. ภัทรียา สุมะโน เป็นประธาน
๘)  คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ โดยมี รองศาสตราาจารย์ นายแพทย์ จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ เป็นประธาน 
๙)  คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ เป็นประธาน
๑๐) คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน
๑๑) คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษา โดยมี ดร. อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล เป็นประธาน
 
คณะอนุกรรมการ ฯ ทำหน้าที่เสนอแนวทางและยกร่างกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือของที่ช่วยลดทอนปัญหาอุปสรรคและสร้างกลไกการปฏิรูปการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ โดยกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้วคือ พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ขณะนี้กำลังเร่งจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน ซึ่งมีเลขาธิการสภาการศึกษาทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุนในระยะแรก นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายหลายฉบับที่อยู่ในกระบวนการร่างและพิจารณาร่างกฎหมาย ได้แก่ 
 
๑) ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีสาระสำคัญ อาทิ การจัดตั้งสำนักงานเพื่อรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฐมวัยแบบบูรณาการของคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลบนฐานเลขบัตรประชาชนที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทุกระบบ (บิ๊กดาต้า) 
 
๒) ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาแห่งชาติ  ตามนโยบายปฏิรูปการอุดมศึกษาซึ่งเกี่ยวข้องกับการตั้งกระทรวงอุดมศึกษาที่อาจควบรวมหน่วยงานระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวิทยาศาสตร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
 
๓) ร่างพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มุ่งให้โรงเรียนมีความเป็นอิสระคล่องตัวและมีความหลากหลายในการบริหารงาน เริ่มนำร่องเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่จังหวัดระยองซึ่งเป็นเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งคนมีความยากจนมากที่สุด ให้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
 
๔) ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เกี่ยวข้องกับการปรับการเรียนการสอนจากฐานของเนื้อหาสาระไปสู่การสร้างสมรรถนะให้แก่ผู้เรียน 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามีแนวทางในการเข้าถึงผู้ขอรับการช่วยเหลืออย่างไร 
       
 
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :
   
คณะอนุกรรมการกองทุน ซึ่งมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน ได้ลงพื้นที่ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบถึงจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือ โดยจะออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบข้อมูลและการช่วยเหลือเด็กปฐมวัย เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และครู  แต่เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐมีการช่วยเหลือด้านการศึกษาโดยกองทุนต่าง ๆ ทั้งจากภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการบริหารกองทุน ฯ ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ตามวิธีการช่วยเหลือซึ่งมี ๓ วิธี คือ การให้เปล่า การให้ยืม และการให้กู้ยืม ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป 
       
ผู้ดำเนินรายการ :    
สถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติมีภารกิจและแนวทางสนับสนุนการผลิตบุคลากรให้ทันต่อโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างไร
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  :     เบื้องต้น คณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอนได้เสนอให้สถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาระดับก่อนวัยเรียน ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ โดยมีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบเทียบเคียงและเทียบโอน การพัฒนาระบบ วิธีการและเครื่องมือการวัดผลและประเมินผล เพื่อส่งเสริมการนำหลักสูตรไปใช้สำหรับการสร้างองค์ความรู้ เผยแพร่นวัตกรรมเกี่ยวกับหลักสูตร และให้มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ เพื่อเป็นส่งเสริมการผลิตบุคลากรให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลผ่านการจัดระบบสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนด้วยสื่อและเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงมีแอปพลิเคชั่นการเรียนการสอนเชิงรุก ทำให้ครูสามารถเข้าถึงทรัพยากรความรู้ ขณะที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้คุณภาพสูงอย่างเท่าเทียม
       
ผู้ดำเนินรายการ :     คนไทยควรปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการศึกษาไทยอย่างไร เพื่อผลักดันให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
       
 
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  :
    สังคมไทยควรตระหนักว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาไม่ใช่การได้รับวุฒิปริญญา แต่คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต การสร้างทักษะที่สามารถนำไปประกอบอาชีพ และสร้างพลเมืองคุณภาพเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ ผู้ปกครองจึงควรทำความเข้าใจว่า การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียน นักเรียนสามารถเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียนได้อย่างไม่จำกัด หน่วยงานทุกภาคส่วนและสื่อสารมวลชน ควรร่วมกันปรับมุมมองเพื่อปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีวิจารณญาณ เมื่อสังคมตระหนักร่วมกันว่า การศึกษามุ่งเน้นกระบวนเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต จะส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้องเปิดกว้างในการรับบุคคลที่จบการศึกษาแล้ว หรือมีเหตุจำเป็นที่ต้องออกนอกระบบการศึกษา สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา กระบวนการเช่นนี้จะช่วยให้คนทุกช่วงวัยมีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ เป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างได้อย่างยั่งยืน
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับประชาชนที่สนใจจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ในช่องทางใด
       

รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  :
   

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org  Facebook Fanpage “ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย” อีเมล [email protected]


นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage“เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      .......................................................................................
       

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด