สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ความก้าวหน้าการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ นายแพทย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ร่วมสนทนาประเด็น “ความก้าวหน้าการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่”
 
ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ขอเรียนถามท่านประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์) ถึงสาระสำคัญและผลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้
       
ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจ ฯ :    
 
คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) มีหน้าที่สำคัญคือ การทำข้อเสนอและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การศึกษาแห่งชาติจึงถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา โดยคณะอนุกรรมการ ฯ ได้ศึกษากฎหมาย เอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนำผลจากการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามาเป็นฐานในการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้
 
เหตุผลสำคัญที่ต้องร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ มี ๓ ประการ ได้แก่ ๑) เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของพลเมืองไทย ๒) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๕๔๕ และ ๒๕๕๓ ยังมีข้อกฎหมายบางประการที่เป็นอุปสรรคในทางปฏิบัติ ทำให้ผลลัพธ์ทางการศึกษายังไม่ตรงตามที่คาดหวัง และ ๓) บริบทของประเทศและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ จึงจำเป็นต้องร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวทันความทันสมัยของโลก
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้จะสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาอย่างไร
       
ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจ ฯ :    
การปฏิรูปการศึกษามีหลายวิธีด้วยกัน อาจเป็นการปรับรูปแบบการบริหารจัดการ หรือการประชุมระหว่างหน่วยงานและประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนกระบวนการต่าง ๆ กฎหมายจึงเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของการปฏิรูป แต่ปัจจัยสำคัญที่ต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดระบบ หน้าที่ และอำนาจในกลไกต่าง ๆ อาทิ การกระจายอำนาจ การสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน สังคม และสถานศึกษา รวมถึงเป็นกระบวนการหนึ่งของการออกข้อกำหนดบางประการที่ภาครัฐจำเป็นต้องดูแลควบคุม เช่น เรื่องการยกเลิกสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ การร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่จึงจะทำให้เกิดหลักปฏิบัติที่ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนนโยบายในรัฐบาลถัดไปก็ตาม
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ท่านคาดว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีผลแล้วเสร็จและกำหนดบังคับใช้เมื่อใด
       
ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจ ฯ :     การประชุมเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา เป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่เป็นครั้งแรก โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีประเด็นสำคัญมากถึง ๑๗ ประเด็น จึงจำเป็นต้องเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) อีกครั้งในวันอังคารที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ จากนั้น คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติจะนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ปรับปรุงตามคำแนะนำของที่ประชุมเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำแนวคิดที่เป็นประโยชน์มาแก้ไขก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ ทั้งนี้ เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ สามารถประกาศใช้ได้ทันรัฐบาลปัจจุบัน
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่มีข้อผูดมัดเรื่องนโยบายการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ อย่างไร
       

ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจ ฯ :
   
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อบังคับในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่มีข้อกำหนดให้ภาครัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยที่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวครอบคลุมทั้งค่าเล่าเรียนและค่าวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้เพิ่มให้ครอบคลุมระบบรับส่งนักเรียนที่แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่จะช่วยดูแลความปลอดภัยให้แก่นักเรียนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว กองทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาตนเองให้ครูในถิ่นทุรกันดารอีกด้วย
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ (รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์) ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ
       
ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจ ฯ :    
การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของทุกคนและเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในสถานศึกษาหรือเป็นบทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางการศึกษาเท่านั้น ผู้ปกครองทุกท่านจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการชี้แนะสิ่งที่ถูกต้องให้กับบุตรหลานของตน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) อยากขอเชิญชวนทุกท่านทั้งที่เกี่ยวกับทางการศึกษา และประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ทั้งเรื่องการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ หรือในกระบวนการอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวประกาศใช้ 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับประชาชนที่สนใจจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ในช่องทางใด
       
ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจ ฯ :    

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org  Facebook Fanpage“ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย”  Line“ร่วมปฏิรูปการศึกษา” 

นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage“เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์  ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจ ฯ ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      .......................................................................................
       
       
       
       
       
       
       
       
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด