สกศ. ประชุมกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ นัดที่ ๒ เร่งเชื่อมโยงและพัฒนาระบบการเทียบโอนและเทียบเคียงคุณวุฒิการศึกษาและมาตรฐานอาชีพ

image

 

วันนี้ (๒๙ มีนาคม ๒๕๖๑) นางศิริพรรณ ชุมนุม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) กับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของไทย (AQRF) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องภุชงค์ เพ่งศรี ชั้น ๒ อาคาร ๑ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

 

 

         นางศิริพรรณ ชุมนุม ประธานการประชุมฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือวาระสำคัญ เช่น การเตรียมการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (The AQRF Committee) ครั้งที่ ๔ และการประชุม       เชิงปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่กรุงเทพฯ โดยความร่วมมือ ๔ หน่วยงานหลัก       คือ สกศ. กรมพัฒนาฝัมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ประสานงาน

 

 

         ที่ประชุมได้พิจารณาร่างข้อมูลของประเทศไทยตามเกณฑ์การเทียบเคียง AQRF ซึ่งมีการหารืออย่างกว้างขวางในประเด็นการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและการประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก โดยให้เพิ่มแนวทางการดำเนินงานตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เพื่อให้มีกลไกการปฏิบัติที่เอื้อต่อการดำเนินการตามมาตรฐานการศึกษาของแต่ละระดับ และเกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมถึงพิจารณาการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการศึกษานอกระบบให้เกิดความเชื่อมโยงสอดคล้องกับ NQF ภายใต้มาตรฐานการเทียบเคียง AQRF แบบเดียวกัน

 

 

นอกจากนี้ ยังพิจารณาร่างรายงานสถานะการขับเคลื่อน NQF ของประเทศไทย โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๖ ทั้งคุณวุฒิอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการให้สอดคล้อง NQFภายใต้ความร่วมมือการปรับระดับมาตรฐานอาชีพของกระทรวงแรงงาน ที่มีการปรับระดับฝีมือแรงงานแห่งชาติ มาตรฐานระดับอาชีพ ๑ - ๒ เทียบเคียง NQF ระดับ ๑ - ๒ และปรับระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ ๑ - ๖ เทียบเคียง NQF ระดับ ๓ - ๘ ในส่วนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ดำเนินการปรับระดับคุณวุฒิวิชาชีพจาก ๗ ระดับ เป็น ๘ ระดับ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเชื่อมโยงและวางแนวทางในการพัฒนาระบบการเทียบโอนและเทียบเคียงระหว่างคุณวุฒิการศึกษาและมาตรฐานอาชีพกับ NQF ให้เป็นรูปธรรมเพื่อผลักดันให้เกิดการกำหนดกรอบอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับสมรรถนะที่ได้รับการรับรองสมรรถนะตาม NQF

 

 

     ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนากำลังคนใน ๗ กลุ่มสาขาอาชีพ ประกอบด้วย ๑) สาขาอาชีพด้านโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน ๒) สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ๓) สาขาอาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ๔) สาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ ๕) สาขาอาชีพอาหารและเกษตร ๖) สาขาอาชีพปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน และ ๗) สาขาอาชีพแม่พิมพ์ คาดแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ เพื่อเสนอคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

 

 

 

     "นอกจากนี้ ยังเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและการยอมรับของหน่วยงาน/บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำหลักการ NQF หรือแปลงนโยบายไปใช้ให้เกิดรูปธรรม เช่น สถานศึกษา ผู้ประกอบการ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม" นางศิริพรรณ กล่าว.

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด