สกศ. เปิดรับฟังเสียงสะท้อนเด็กรุ่นใหม่ ณ นครศรีธรรมราช

image

 

วันนี้ (๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑) ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้กลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ครั้งที่ ๓ ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเปิดเวทีรับฟังเสียงสะท้อนของคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ – ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๑ โดยมี นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นางเกื้อกูล ชั่งใจ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ผศ.ดร.อภิณห์พร สถิตย์ภาคีกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช อาจารย์จำนง หนูนิล ครูชำนาญการพิเศษ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยเด็กและเยาวชนกว่า ๖๐ คน เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น ณ โรงแรมเดอะ ทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช
 
ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า  สังคมไทยพูดถึงการปฏิรูปการศึกษามานานกว่า ๒๐ ปี แต่ปัจจุบันสภาพปัญหาของสภาวะการศึกษาไทยยังคงมีอยู่และมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การอ่านออกเขียนได้ และการทำหน้าที่ของครูอาจารย์ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นใหม่เป็นผู้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ผลผลิตอย่างมีนวัตกรรม ตามเป้าหมายของการเป็นประเทศไทย ๔.๐ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเล็งเห็นความสำคัญของเยาวชนซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของกระบวนการเรียนรู้ การประชุมวันนี้จึงเป็นการเปิดพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อการศึกษาไทย อาทิ หลักสูตรการเรียนรู้ ห้องเรียน และสื่อการเรียนการสอน โดยจะนำข้อสรุปที่ได้ไปเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพของเยาวชนไทยให้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีของชาติต่อไป
 
นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม บางอาชีพที่มีในอดีตกลับเลือนหายไปในสังคมปัจจุบัน ขณะที่บางอาชีพจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีทักษะความรู้ในสาขาวิชาใหม่ ฉะนั้น ระบบการจัดการเรียนรู้จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วย การจัดประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสอันดียิ่งที่เยาวชนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดของการศึกษาได้แสดงความต้องการของตนเอง ซึ่งในอดีตไม่ค่อยมีเวทีรับฟังเช่นนี้มากนัก จึงขอฝากให้เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านสะท้อนมุมมองของตนต่อการศึกษาอย่างเต็มที่ เพื่อปรับปรุงหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นประสบความสำเร็จอย่างรูปธรรมมากที่สุด
 
ผศ.ดร.อภิณห์พร สถิตย์ภาคีกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ยกตัวอย่างการจัดการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ที่สอนให้เยาวชนมีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ และรู้จักจุดแข็งจุดอ่อนของประเทศตนเอง การปฏิรูปการศึกษาไทยควรจะเน้นการปลูกฝังเยาวชนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ เริ่มจากการสอนให้เด็กรู้จักความต้องการของตนเองและสามารถบอกบทบาทของตนที่มีต่อพัฒนาประเทศชาติได้ การจัดการเรียนการสอนต้องเน้นความต้องการของผู้เรียนโดยใช้วิธีการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหา สื่อการสอน รวมถึงกฎระเบียบของห้องเรียน และพัฒนากระบวนการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมโลกที่ทันสมัย 
 
อาจารย์จำนง หนูนิล ครูชำนาญการพิเศษ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า กศน. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนทุกช่วงวัย แต่ปัจจุบันเยาวชนที่ต้องออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับเข้าศึกษาต่อที่ กศน. เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนและการเป็นผู้ต้องหาในคดีความต่าง ๆ จึงควรตั้งคำถามกับการศึกษาไทยว่า วิธีการจัดการศึกษาที่ผ่านมาล้มเหลวหรือไม่ และควรปฏิรูปการศึกษาในทิศทางใดให้เยาวชนมีคุณธรรมและสามารถสำเร็จการศึกษาตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อให้การลงทุนด้านการศึกษามีคุณภาพและเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
 
สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีดังนี้ ข้อเสนอแนะเด็กและเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ การเรียนการสอนที่สามารถดึงความสนใจของผู้เรียนได้อย่างต่อเนื่อง การเพิ่มรายวิชาวัฒนธรรมท้องถิ่นศึกษา เน้นสอนความรู้เท่าทันข่าวสารเทคโนโลยี และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต นอกจากนี้ ควรเพิ่มการสอนทักษะการนำเสนอผลงานเพื่อประโยชน์ในการสัมภาษณ์เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาและการประกอบอาชีพในอนาคต 
 
ข้อเสนอแนะเด็กและเยาวชนระดับอาชีวศึกษา ได้แก่ การนำเสนอผลความสำเร็จของผู้เรียนสายอาชีวศึกษาเพื่อแก้ไขทัศนคติของสังคมที่มีต่ออาชีวศึกษาให้ดีขึ้น การเพิ่มงบประมาณสนับสนุนอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสเกิดการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง และควรปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยเพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถนำไปประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน 
 
ข้อเสนอแนะเด็กและเยาวชนระดับอุดมศึกษา ได้แก่ การสร้างสื่อที่ให้ความรู้ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ส่งเสริมการสร้างแหล่งศึกษาวัฒนธรรมภาคใต้ การจัดรายวิชาที่สอดคล้องกับความถนัดของผู้เรียน และเพิ่มกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชั้นเรียนมากขึ้น
 
ข้อเสนอแนะเด็กและเยาวชนระดับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ได้แก่ การเทียบวุฒิการศึกษาที่ได้มาตรฐานเพื่อใช้ในการประกอบวิชาชีพ ควรปรับการวัดและประเมินผลตามสภาพจริงของผู้เรียนเป็นรายบุคคล การเพิ่มกิจกรรมกีฬาและนันทนาการ และให้ผู้เรียนต้องฝึกทักษะทางวิชาชีพก่อนสำเร็จการศึกษาในรูปแบบเดียวกับอาชีวศึกษา 
 

ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด