กอปศ. สกศ. และ จุฬา นำคณะสื่อลงพื้นที่ จ.สตูล

image

           ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา นางเรียม สิงห์ทร กรรมการอิสระฯ นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ศาสตราจารย์ ดร. สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวสุวีณา เกนทะนะศิล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดสตูล เข้าร่วมเวทีเสวนาสาธารณะ “ปฏิรูป+ปฏิบัติสู่การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา” ตามโครงการวิจัยการสังเคราะห์รูปแบบการจัดการเรียนรู้ชุมชนโดยใช้การวิจัยเป็นฐานเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาจากล่างสู่บน ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ 

           กิจกรรมในช่วงเช้าวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ผู้บริหารและคณะสื่อมวลชนได้เข้าร่วมกิจกรรมกับนักเรียนโรงเรียนอนุบาลสตูลโดยมี นายสุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ นำคณะลงพื้นที่ศึกษาตามรอยฟอสซิล โดยร่วมกับชุมชนพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดสตูล โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน โจทย์ต่อยอดเรื่องฟอสซิล โดยเทคนิคการจัดการเรียนรู้ขั้นตอนการวิจัย ๑๐ ขั้นตอน คือ ๑. เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว ๒. วิเคราะห์ สังเคราะห์ และย้อนทวนกระบวนการ ๓. พัฒนาโจทย์วิจัย ๔. ตั้งคำถามย่อยจากโจทย์วิจัย ๕. ค้นหาวิธีการเก็บข้อมูล ๖. ศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล ๗. วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล ๘. ออกแบบและปฏิบัติจริง ๙. เก็บรวบรวมข้อมูลจากการปฏิบัติจริง และ ๑๐. สรุป รายงานผล และนำเสนอผลงาน ในช่วงบ่าย คณะได้ลงพื้นที่ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครู และผู้ปกครองโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยมี นางสิริ เด็นเบ็น เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

           ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ มีกิจกรรมการเสวนา ๒ ประเด็น คือ ๑. โรงเรียนขนาดเล็กและเครือข่ายหลักสูตรภูมิสังคม การศึกษาตลอดชีวิต ๒. โรงเรียนนิติบุคคล จังหวัดจัดการตนเอง สมัชชาการศึกษา และทิศทางการปฏิรูปการศึกษาจากล่างสู่บน

           ศาสตราจารย์ ดร. สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาจากบนลงล่างสำเร็จได้ยาก จึงต้องเปลี่ยนมุมมองไปเป็นจากล่างสู่บน การกระจายอำนาจต้องใช้หลักการส่วนกลาง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนล่าง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอำนาจในการตัดสินใจ การจัดการระบบโรงเรียน ทรัพยากร งบประมาณ ต้องอยู่ที่ระดับล่างทั้งหมด

 

           การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ทราบสภาพปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น การเติบโตจากส่วนกลางมาส่วนภูมิภาค ส่วนจังหวัดขยายตัวค่อนข้างมาก ใช้งบประมาณค่อนข้างมากตามลำดับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพโรงเรียนไม่มาก ระบบโรงเรียนที่ควรจะเป็นโรงเรียนที่ช่วยเหลือเด็ก ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพ กลับได้รับงบประมาณต่ำมาก ดังนั้น การรับทราบปัญหาต่างๆ จึงต้องทำจากล่างสู่บน ต้องทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล จัดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เป็นอิสระ มีเสรีภาพ มีหลักสูตรภูมิปัญญา ไม่แปลกแยกจากชุมชน 

           การปฏิรูปการศึกษาต้องให้นักเรียนเป็นตัวตั้ง ใช้โจทย์ปัญหา เรื่องที่ใกล้ตัวเด็กเป็นตัวตั้ง โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ผู้บริหาร จะทำอย่างไรให้เด็กพัฒนาไปสู่ทักษะ สมรรถภาพ มีกระบวนการเรียนรู้ ให้เด็กปฏิบัติมากขึ้น ไม่เรียนแบบท่องจำ เด็กเป็นความหวังที่ทุกคนต้องมองเป้าหมายร่วมกันว่าต้องการเด็กเป็นอย่างไร มีคุณลักษณะ คุณสมบัติเด็กในศตวรรษที่ ๒๑ หรือไม่ รองลงมามองที่ครู ผู้บริหาร ประชาชน ชุมชน เขตพื้นที่ จังหวัด และกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาจากล่างสู่บน โดยเฉพาะเด็กเป็นสำคัญ

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด