สกศ. ประชุมปฏิบัติการพัฒนากรอบความคิดและแนวทางการดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบและกลไกการพัฒนาครูในลักษณะเครือข่ายเชิงพื้นที่ ๕ พื้นที่

image

         วันที่ (๒๖-๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑) นางเกื้อกูล ชั่งใจ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ เป็นประธานการประชุมปฏิบัติการพัฒนากรอบความคิดและแนวทางการดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบและกลไกการพัฒนาครูในลักษณะเครือข่ายเชิงพื้นที่ ๕ พื้นที่ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานสาขาหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยาย แนวคิดการพัฒนาครูในยุค VUCA ณ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ กรุงเทพฯ 
 
         นางเกื้อกูล ชั่งใจ กล่าวเปิดการประชุมว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินการโครงการพัฒนารูปแบบและกลไกการพัฒนาครูในลักษณะเครือข่ายเชิงพื้นที่ ๕ พื้นที่ ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะนักวิจัยจาก ๕ พื้นที่ ได้แก่ ๑) กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก ๒) ภาคเหนือ มีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก ๓) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีเป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก ๔) ภาคกลาง รวมภาคตะวันออกและภาคตะวันตก มีมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นหน่วยงานดำเนินการหลักและ ๕) ภาคใต้ มีมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก มาร่วมกันกำหนดกรอบความคิด การบริหารงานโครงการในภาพรวมและในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการวางแผนดำเนินงานของโครงการ เพื่อให้เกิดข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนระบบ แนวคิด การจัดการด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพของผู้เรียน
         ทั้งนี้ ความสำคัญในการพัฒนาครูโดยใช้แนวคิดความร่วมมือของสถาบันผลิตครูในพื้นที่ร่วมรับผิดชอบดำเนินการพัฒนาครูในลักษณะเครือข่ายจะเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาครู การสนับสนุนให้สถาบันผลิตครูปรับบทบาทเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาครูสอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ยุทธศาสตร์การพัฒนาครูโดยใช้ภูมิภาคเป็นฐาน สนับสนุนให้สถาบันผลิตครูร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สร้างเครือข่ายการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์รูปแบบและกลไกการพัฒนาครู
 
 

         ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ กล่าวว่า การมองอนาคตของการพัฒนาครูให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาครูให้มีศักยภาพการสอนที่สามารถเตรียมตัวให้นักเรียนมีความพร้อมสำหรับโลกอนาคต กล่าวคือ ผลิตกำลังคนของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจแรงงานและตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนในอนาคต สำหรับแนวคิดการพัฒนาครูในโลกยุค VUCA คือโลกที่เปลี่ยนแปลง หมายถึง V (Volatility) มีอัตราการเปลี่ยนแปลง หรือผันแปรสูง U (Uncertainty) มีความไม่แน่นอน C (Complexity) มีความซับซ้อนสูง A (Ambiguity) มีความไม่ชัดเจนหรือกำกวมหรืออาจไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงในยุค VUCA คุณลักษณะคนที่พึงประสงค์ในโลกใหม่จะต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน คือ ๑) Dynamic เต็มไปด้วยพลังและมีความเป็นพลวัต ๒) Agility ความคล่องตัว ความว่องไว และกระฉับกระเฉง ๓) Creative ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และ ๔) Innovation ที่เต็มไปด้วยจิตใจปฏิรูปใหม่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องภาวะผู้นำเชิงสร้างสรรค์นวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการอีกด้วย ดังนั้น การพัฒนาครูจะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ผลลัพธ์ รูปแบบ และกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาครูใหม่ 

 

 

 

           ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายที่ประชุมร่วมกันพิจารณาวิธีการดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบและกลไกการพัฒนาครูตามแนวคิดเครือข่ายเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจและตกลงร่วมกันในการจัดทำรายละเอียด กรอบความคิดและแนวทางการดำเนินงาน นำไปสู่การดำเนินงานแต่ละพื้นที่ โดยที่ปรึกษาโครงการแต่ละพื้นที่มีวิธีการดำเนินงาน ๓ ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ ๑ จัดทำรายงานสภาพปัจจุบันและสภาพพึงประสงค์ของการพัฒนาครู ขั้นตอนที่ ๒ พัฒนากระบวนทัศน์จัดทำร่างรูปแบบกลไกการพัฒนาครู และ ขั้นตอนที่ ๓ จัดทำรายงานผลการศึกษา. 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด