รองเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดการประชุมสัมมนาสภาวการณ์การศึกษาไทยกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ปี ๒๕๖๐

image

  เมื่อวันที่ (๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) เป็นประธานการประชุมสัมมนาเรื่อง สภาวการณ์การศึกษาไทยกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ปี ๒๕๖๐ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ๓ หน่วยงานสำคัญของประเทศ ประกอบด้วย นางสาวสุพาพร อรุณรักษ์สมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศยุทธศาสตร์ภาครัฐ สำนักงานสถิติแห่งชาติ นางสาวภัทรพร เล้าวงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ นายอำนาจ อภิเดช ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) พร้อมผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสัมมนา ณ ห้องภาณุรังษี เอ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ 


     ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. จัดทำรายงานสภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ. ๒๕๕๙/๒๕๖๐ เพื่อนำเสนอตัวชี้วัดด้านการศึกษาและที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเปรียบเทียบกับกับนานาชาติหรือประเทศที่คัดสรรในกลุ่มเอเซียแปซิฟิกและอาเซียน+๖ จำนวน ๑๖ ประเทศ โดยการศึกษา ค้นคว้า และเปรียบเทียบข้อมูลตามตัวชี้วัดจากฐานข้อมูลหลักของสถาบันสถิติแห่งยูเนสโก (UNESCO Institute for Statistics : UIS) และเอกสารจากแหล่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รายงานมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ได้แก่ World Competitiveness Yearbook (IMD 2016-2017) World Economic Forum (WEF 2017/2018) World University Ranking Quacquarelli Symons (QS 2018) Programme for International Student Assessment (PISA 2015) Trends in International Mathematics and Science Study (TIMSS 2015) และ Human Development Report 2016 


     ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ กล่าวว่า สาระสำคัญที่ทาง สกศ. ดำเนินการศึกษาสังเคราะห์ ประกอบด้วย สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งในเรื่องประชากร เช่น การเปลี่ยนแปลงของประชากร อัตราการพึ่งพิง ร้อยละของการทำงานและว่างงาน คุณภาพชีวิต เช่น การพัฒนามนุษย์ ความยากจน สื่อและเทคโนโลยี เช่น การใช้อินเทอร์เน็ต การใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Hispeed) การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อมูลชี้วัดด้านการศึกษาที่สะท้อนภาพการศึกษาไทยใจแต่ละปีว่ามีคุณภาพและสมรรถนะการแข่งขันดีเพียงใดในเวทีการแข่งขันโลก


     สำหรับผลการจัดอันดับประเทศไทยในการแข่งขันเวทีโลก ปี ๒๕๖๐ โดย IMD จัดอันดับ ไทย ในภาพรวมลำดับที่ ๒๗ ส่วนอันดับด้านการศึกษา ลำดับที่ ๕๔ ลดลง ๒ อันดับจากปี ๒๕๕๙ จากจำนวนทั้งสิ้น ๖๓ ประเทศ ที่ใช้ตัวชี้วัดด้านการศึกษา ๑๘ ตัวชี้วัด 


     ในส่วน WEF วางอันดับ ไทย ในภาพรวมอยู่ลำดับที่ ๓๒ จากการสำรวจทั้งหมด ๑๓๗ ประเทศ ขณะที่อันดับด้านการศึกษา ประเมินจากเสาหลักที่ ๔ (สุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๒ ตัวชี้วัด) อยู่ที่ ๙๐ ลดลง ๔ อันดับ และเสาหลักที่ ๕ (การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ๘ ตัวชี้วัด) อยู่ที่ ๕๗ ดีขึ้น ๕ อันดับจากปี ๒๕๕๙ 


     สำหรับเกณฑ์ประเมิน PISA ซึ่งจัดประเมินทุก ๓ ปี อันดับด้านการศึกษาในปี ๒๕๕๘ ไทย ถูกประเมินลดลง ดัชนีการอ่านได้ ๔๐๙ คะแนน จากเดิมปี ๒๕๕๕ ได้ ๔๔๑ คะแนน ดัชนีคณิตศาสตร์ได้ ๔๑๕ คะแนน จากเดิมปี ๒๕๕๕ ได้ ๔๒๗ คะแนน และวิทยาศาสตร์ ได้ ๔๒๑ คะแนน จากเดิมปี ๒๕๕๕ ได้ ๔๔๔ คะแนน จากจำนวนทั้งสิ้น ๗๒ ประเทศ


     ส่วนอันดับมหาวิทยาลัยไทย จัดอันดับทุกปีโดย QS ประเมินจากทั้งหมด ๔,๓๘๘ สถาบัน ปรากฏว่า ปี ๒๕๖๐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รั้งอันดับที่ ๒๔๕ ดีขึ้น ๗ อันดับ และมหาวิทยาลัยมหิดล อยู่อันดับที่ ๓๓๔ ลดลง ๕๑ อันดับ


      ทั้งนี้ ทุกหน่วยงาน IMD/WEF เลือกใช้เกณฑ์ประเมินจากปัจจัยหลักในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ปี ๒๕๖๐ จาก ๔ ปัจจัยสำคัญ ประกอบด้วย ๑.สมรีถนะทางเศรษฐกิจ (๘๓ ตัวชี้วัด) ๒.ประสิทธิภาพภาครัฐ (๗๔ ตัวชี้วัด) ๓.ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (๗๔ ตัวชี้วัด) และ ๔.โครงสร้างพื้นฐาน (๑๑๕ ตัวชี้วัด) โดยมี ๑๘ ตัวชี้วัดด้านการศึกษารวมในปัจจัยย่อยกลุ่มนี้ด้วย โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมสัมมนาครั้งนี้เห็นควรส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย เช่น สมรรถนะด้านความรู้ สมรรถนะด้านเทคโนโลยี และการเตรียมความพร้อมสู่อนาคต ซึ่งที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางและเสนอแนะแนวทางพัฒนากำลังคนที่มีความหลากหลายและได้ข้อสรุปในทิศทางเดียวกันคือ เร่งวางกลไกการศึกษาที่มีคุณภาพและมีความเชี่ยวชาญวิชาชีพ พร้อมบูรณาการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกภาคส่วนช่วยเติมเต็มทักษะที่จำเป็น เช่น มุมมองภาพรวมของโลก (Global Perspective) ทักษะต่าง ๆ ทั้งด้านภาษา (Language Skills) การสื่อสาร (Communication Skills) ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง เพื่อสามารถผลิตกำลังคนที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างตรงเป้าหมาย เพื่อรองรับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ และเพิ่มอันดับประเทศไทยดีขึ้น 


     "น่ายินดีที่มีผู้แทนสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการ หรือผู้ใช้กำลังคนมาร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนช้อคิดเห็นด้านความพึงพอใจของผู้ใช้กำลังคนที่จบการศึกษาจากฝ่ายผลิตกำลังคน ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. สอศ. สกอ. ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตกำลังคนและผู้ใช้กำลังคนได้สื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล ความต้องการที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาการสร้างสมรรถนะกำลังคนของประเทศที่มีคุณภาพสูง โดย สกศ. จะได้สรุปสาระสำคัญการประชุมเพื่อสังเคราะห์จัดทำข้อเสนอนโยบายการศึกษาชาติต่อไป" ดร.สมศักดิ์ กล่าว

 

ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่ 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด