สกศ. ลงพื้นที่อุดรธานี ประชุมหารือการประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษา

image

เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นายสวัสดิ์ ภู่ทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมสัมมนา เรื่อง การประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาและพิจาณาแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวของให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี โดยมี วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบริหารการศึกษา และกฎหมายการศึกษา มาร่วมอภิปรายข้อเสนอการบังคับใช้และพัฒนากฎหมายการศึกษาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

   

นายวีระ พลอยครบุรี กล่าวว่า จากสภาพบริบทและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศไทย พบว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยไม่สามารถก่อให้เกิดการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทัดเทียมกับนานาประเทศ รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษาในหลายด้าน โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย และระบบการผลิต การคัดกรอง การพัฒนา และเส้นทางวิชาชีพครู
ดังนั้น เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยควรเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง และการบูรณาการการทำงานร่วมกันในระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของการผลิตครูจะต้องมีหลักสูตรการผลิตครูที่มีความเข้มข้น เช่น ในช่วงระยะเวลาของการฝึกสอนของนักศึกษา สถาบันการผลิตครูควรมีการจัดให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์การฝึกสอนทั้งในโรงเรียนที่มีความพร้อม และโรงเรียนที่ขาดความพร้อม เป็นต้น

   

นายอาทร ทองสวัสดิ์ กล่าวว่า ในการปฏิรูปศึกษาตามมาตรา ๕๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ให้ความสำคัญกับประเด็นในการปฏิรูปการศึกษา ทั้งในด้านการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็ก การจัดสรรกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา การพัฒนามาตรฐานครูและบุคลากรทางการศึกษา การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน และการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการปฏิรูปการศึกษาสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในส่วนของนโยบายและการปฏิบัติ

   

นายโกวิท คูพะเนียด กล่าวว่า เมื่อได้พิจารณากฎหมายการศึกษา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยว อาทิกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น เห็นว่าไม่เอื้อต่อการปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ด้วยเหตุดังกล่าว หน่วยงานส่วนกลางที่อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ร่วมมือกันในการทบทวนกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยนำหลักการเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาที่ปรากฏในรัฐธรรมธรรมนูญมาเป็นแนวทางในการพิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

   

นายชัยรัตน์ หลายวัชระกุล กล่าวว่า ในการยกร่างกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะต้องพิจารณาสภาวะการณ์ในปัจจุบันของประเทศ โดยนำสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการบังคับกฎหมายในอดีต และผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มาเป็นแนวทางในการพิจารณายกร่างกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ กฎหมายจะต้องมีความชัดเจน มีผลบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รวมทั้ง คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติที่จะเกิดขึ้นเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ในภาคบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา เพื่อร่วมระดมความเห็น เรื่องการประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาเพื่อนำข้อมูลมาใช้เป็นประโยชน์ในการการประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาและพิจาณาแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวของให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด