สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น แนวทางการประยุกต์ใช้การจัดการเรียนรู้รูปแบบอะคิตะโมเดล (Akita Model) ในบริบทประเทศไทย

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    

รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “แนวทางการประยุกต์ใช้การจัดการเรียนรู้รูปแบบอะคิตะโมเดล (Akita Model) ในบริบทประเทศไทย”

เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดประชุมทางวิชาการ เรื่อง “การจัดการเรียนรู้รูปแบบอะคิตะโมเดล (Akita Model): สู่แนวทางการประยุกต์ใช้ในบริบทประเทศไทย”  ท่านช่วยอธิบายคำว่า การจัดการเรียนรู้รูปแบบอะคิตะโมเดลว่า มีลักษณะและกระบวนการเป็นอย่างไร

       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :      “อะคิตะ”คือ เป็นชื่อจังหวัดเกษตรกรรม ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น “อะคิตะโมเดล” โดยทางทีมงานวิจัยของสำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา ทำการค้นพบแนวคิดใหม่ที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบการเรียนการสอนที่เราสามารถนำไปใช้ได้จริง ทำให้เราได้แนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ในประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า “อะคิตะแอคชั่น”
       
ผู้ดำเนินรายการ :     รูปแบบการจัดการเรียนการสอนนี้เป็นอย่างไร ทำไมนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :    
 
จังหวัดอะคิตะ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้เผชิญหน้ากับ Pisa Shock เนื่องจากคะแนนสอบเด็กในระดับมัธยมศึกษามีคะแนนตกต่ำมาก ทำให้ทุกคนตกใจกันทั้งจังหวัด  อาทิ ครู อาจารย์ ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ซึ่งทำให้ค้นคว้าหาวิธีการว่า สาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร กระบวนการเป็นอย่างไร โดยการปรึกษาหารือร่วมกัน จังหวัดอะคิตะในประเทศญี่ปุ่นทำให้โรงเรียนสามารถสื่อสารกับชุมชนและภาคส่วนราชการได้ และทำให้ได้ข้อตกร่วมกันว่า ถ้าจะแก้ไขปัญหาต้องเริ่มจากการปรับปรุงการ เรียนการสอน ความเป็นจริงที่ผ่านมา “อะคิตะโมเดล” ได้แนวคิดการปรับปรุงการเรียนการสอนเชิงรุกแบบอะคิตะ ซึ่งเป็นรูปแบบการสอนที่พัฒนามาจาก Problem – Based Learning คือ การเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากปัญหา และเริ่มมีการพัฒนาจากครูที่สอนทางด้านภาษาและครูที่สอนวิชาคณิตศาสตร์ มีลักษณะกระตุ้นให้เด็กคิดด้วยตัวเอง คิดเป็นกลุ่ม และสรุปเป็นบทเรียน หลังจากนั้นจะเห็นได้ว่า ทำให้คะแนนของเด็กในจังหวัดอะคิตะได้ผลคะแนนดีขึ้น จึงทำให้ต้องการเผยแพร่ความรู้ในด้านนี้ไปสู่ผู้สนใจทั่วไป
       
ผู้ดำเนินรายการ :     การต่อยอดแก้จุดอ่อนของ Problem – Based ที่เป็นจุดเด่นของการจัดการเรียนการสอนมีขั้นตอนอะไรบ้าง
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     ในการดำเนินงานการสอนแบบอะคิตะมี ๔ ขั้นตอน  โดยการกระตุ้นให้เด็กเกิดความคิดมากขึ้น ดังนี้ ๑) กระตุ้นทำให้เด็กรู้จักตั้งข้อสังเกตในการเรียนรู้ เด็กนักเรียนจะรู้ได้ด้วยการคิดเอง โดยการค้นพบหัวข้อในการเรียนรู้ด้วนตนเองและรู้จักตั้งข้อสังเกตในการหาคำตอบ ๒) มีความคิดของตัวเอง การมีความคิดเป็นของตัวเอง จะเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมการอภิปรายที่ช่วยขยายความคิดให้กว้างและลึกซึ้งขึ้น ๓) อภิปรายกันเป็นคู่ จากการเรียนแบบให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันจะช่วยทำให้ความคิดของแต่ละคนกว้างและลึกขึ้น ความสามารถในการคิด และการแสดงออกก็จะเพิ่มขึ้น ๔) ทบทวนเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ กิจกรรมการทบทวนโดยใช้สมดุลจดบันทึกหรือการเขียนบนกระดาษจะช่วยให้จดจำเนื้อหาการเรียนรู้ และวิธีการเรียนรู้ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น โดยคุณครูต้องรับภาระหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้กับนักเรียน
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ขณะนี้กำลังดำเนินการวิจัย ท่านจะมีข้อเสนอแนะเพื่อนำมาใช้จริงอย่างไรครับ
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :    

ความเป็นจริงไม่ใช่งานวิจัยแบบธรรมดา อาจเรียกว่า Action Research โดยประเทศญี่ปุ่นในจังหวัดอะคิตะได้ทำโมเดลรูปแบบการเรียนการสอนกันทั้งจังหวัด ส่วนในประเทศไทยมีโรงเรียนหลายแห่ง ที่ได้มีการเรียนรู้และนำแนวคิดจากการอะคิตะมาใช้ รุ่นแรกคือ โรงเรียน กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นต้น

ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินการมาเมื่อปีที่แล้ว และมีโรงเรียนอยู่ ๔ แห่ง สังกัดกรุงเทพมหานคร คือ โรงเรียนราชมนตรี  และได้นำแนวคิดของอะคิตะมาทดลองใช้ในเขตนนทบุรี เช่น โรงเรียนประชาอุปถัมภ์  โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ทีมวิจัยดำเนินการติดตามผลที่ได้รับจากการนำแนวคิดอะคิตะมาประยุกต์ใช้กับทางโรงเรียน เพื่อดูว่า เด็กนักเรียนมีผลจากการเรียนการสอนดีขึ้นไหม หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการของประเทศญี่ปุ่นในจังหวัดอะคิตะได้ลงมาดูผลลัพธ์ว่า แนวคิดของอะคิตะเมื่อนำมาใช้กับบริบทในประเทศไทย มีผลการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างไร
 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     เท่าที่ศึกษาดูพบว่าข้อมูลมีความแตกต่างกัน คือ ประเทศญี่ปุ่นในจังหวัดอะคิตะ มีครูเข้ามามีส่วนร่วมรวมทั้งต้องมีการตกลงกันตั้งแต่ตอนเช้าว่า วันนี้จะมีการเปิดบทเรียนหรือเริ่มจากตรงไหนก่อน และตอนเย็นมาสรุปกันอีกที วัฒนธรรมเหล่านี้ใช้ในการทำงานร่วมกัน การดำเนินการแบบนี้ในสังคมไทยจะดำเนินการได้อย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     อะคิตะ ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องครูอย่างเดียว ผู้บริหารในโรงเรียนอื่นๆในจังหวัด ผู้ปกครอง ชุมชน สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย วิทยาลัย ทุกคนควรต้องเข้ามีส่วนร่วมกันทั้งหมด ผมเชื่อว่าในส่วนการบริหารการศึกษา อะคิตะโมเดลมีความสำคัญพอกับการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมเป็นผู้สนับสนุนการจัดทำกิจกรรมการเรียนการสอน ผมคิดว่า ประเด็นนี้มีความสำคัญ เนื่องจากการดำเนินงานของโรงเรียนเป็นเรื่องของโรงเรียน หรือ เป็นเรื่องของครู แต่ทุกคนควรคิดว่าโรงเรียนเป็นเรื่องของเราทุกคน โดยทุกคนจะต้องตระหนักถึงความสำคัญพร้อมทั้งการมีส่วนร่วมในเรื่องนี้
       
ผู้ดำเนินรายการ :     และที่ผ่านมาน่าจะนำไปใช้ได้อย่างไร นำข้อมูลใส่ในการเรียนการสอนในรายวิชาของเด็กได้อย่างไรบ้าง
       
 
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :
    ผมคิดว่า คุณครูรายวิชาสามารถกระตุ้นคำถามให้เด็กสามารถตอบปัญหาได้ภายในรอบตัวทุกวิชา โดยคุณครูต้องมีความตื่นตัวเพื่อทำการกระตุ้นเด็กให้มีการช่วยกันคิด ช่วยกันสังเกตวิชาที่ตนรับผิดชอบ และทำให้เด็กคิดว่า ในสิ่งที่เด็กเรียนไม่ใช่สิ่งที่แบ่งแยกจากชีวิตจริง คุณครูควรมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอะคิตะขับเคลื่อนได้ตามความเป็นจริง
       
ผู้ดำเนินรายการ :     การดำเนินการดังกล่าว ควรยึดเนื้อหารายวิชาของชั่วโมงที่ทำแผนการเรียนการสอนไว้ด้วย การที่จะเข้าสู่เนื้อหาบทเรียนเพื่อสร้างแรงจูงใจ แรงกระตุ้น 
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     ผมต้องการเรียนให้ทราบว่า เนื้อหารสาระหลักสูตรวิชา ๘ สาระ ยังคงเดิม แต่คุณครูอาจต้องมีการเปลี่ยนวิธีสอน ที่ผ่านมาคุณครูส่วนใหญ่สอนด้วยวิธีการบอกและทำให้ดูด้วยการจดบนกระดาน และสอนแบบบรรยาย แต่สิ่งที่กลับกันและตรงกันข้าม คือ ต่อไปคุณครูจะไม่มีการบรรยาย แต่เด็กจะทำหน้าที่ช่วยกันคิด คุณครูจะมีหน้าที่ ตั้งคำถาม และกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง ฉะนั้นผมคิดว่าหลักสูตรใดๆ ไม่ใช่อุปสรรค แต่สิ่งที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอนครั้งนี้คือ เราจะต้องเปลี่ยนวิธีการสอนให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองด้วยวิธีการคิด ค้นคว้า ด้วยตนเองให้มากขึ้น
       
 
ผู้ดำเนินรายการ :
    เมื่อฟังดูแล้ว เราควรจะต้องพัฒนาครูให้มีรูปแบบการคิด และมีหลักการในลักษณะโมเดลของอะคิตะใช่ไหมค่ะ 
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     สิ่งที่นักวิจัยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษานำไปทดลองคือ เมื่อเห็นคุณครูเปลี่ยนวิธีการสอน และได้เห็นเด็กอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยระยะแรก คุณครูอาจจะต้องเหนื่อยหน่าย แต่พอคุ้นเคยกับเทคนิคดังกล่าว คุณครูจะเกิดความสนุกกับเด็กนักเรียนไปด้วย
       
ผู้ดำเนินรายการ :     นอกเหนือจากโรงเรียนนำร่อง ๔ แห่งของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หากโรงเรียนใดสนใจและเข้าใจในรูปแบบดังกล่าว สามารถนำไปขยายเพื่อต่อยอดในโรงเรียนนั้น ๆ ได้เลยใช่ไหมค่ะ
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้เชิญโรงเรียนและผู้บริหารระดับพื้นที่มาฟังการบรรยายการจัดการเรียนการสอนของทีมจังหวัดอคีตะในประเทศญี่ปุ่น ผมเชื่อว่า การดำเนินการดังที่กล่าวมาแล้วสามารถสร้างแรงบันดาลใจกับผู้บริหารโรงเรียน ครู อาจารย์ หลังจากนี้หากใครสนใจก็อาจจะนำแนวคิดนี้ไปใช้กับทางโรงเรียนต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการเกี่ยวกับแนวคิดของอะคิตะที่น่าสนใจและสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับทางโรงเรียนของเรา
       
 
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :
   

ผมคิดว่า สิ่งที่อะคิตะให้บทเรียนสำคัญคือ เราต้องคิดว่าโรงเรียนเป็นเรื่องของเรา การศึกษาเป็นเรื่องของเราไม่ใช่เป็นเรื่องแค่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ หรือแค่เฉพาะโรงเรียน ทุกคนมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษา

สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อเสนอแนะเรื่องรูปแบบการจัดการเรียนรู้ หรือต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สามารถส่งความความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย  เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมาในวันนี้
      .......................................................................................
       

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด