สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ผลการประชุมทางวิชาการ เรื่อง “รวมพลังสรรค์สร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ”

image

ผู้ดำเนินรายการ :

   

รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากนายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมสนทนาประเด็น ผลการประชุม “รวมพลังสรรค์สร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” ก่อนอื่นขอให้ท่าน อธิบายถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้

       

ผอ. กวิน :

   

เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดประชุมทางวิชาการ เรื่อง “รวมพลังสรรค์สร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” โดยมี ดร. เกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  รองศาสตราจารย์ ดร. มนตรี แย้มกสิกร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศคอมพิวเตอร์และเครือข่าย สำนักงานเลขาธิการสภาการคุรุสภา รักษาการผู้อำนวยการสถาบันคุรุพัฒนา  ดร. กัมพล เจริญรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย จังหวัดศรีสะเกษ และนางจันทร์ทิพย์ รักสม ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวิเชียรมาตุ ๒ จังหวัดตรัง ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร สำหรับการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC (Professional Learning Community) เป็นเครื่องมือในการพัฒนาครู ผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงการปฏิรูปสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน 
หัวใจสำคัญของ PLC คือ การให้ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกและออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม พร้อมทั้งได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนั้น นอกจากได้รับความรู้จากผู้แทนหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย ยังได้ทราบถึงบทบาทของครูผู้ปฏิบัติการสอนและผู้บริหารสถานศึกษาในการส่งเสริมกระบวนการ PLC ให้เกิดผลสำเร็จในสถานศึกษา อีกทั้งยังได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การใช้ PLC จากผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นด้วย 

       

ผู้ดำเนินรายการ :

   

ผู้เข้าร่วมประชุม “รวมพลังสรรค์สร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ”  ประกอบด้วยบุคลากรจากหน่วยงานใด

       

ผอ. กวิน :

   

ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งจากหน่วยงานในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารและครูผู้สอนจากหลากหลายสถานศึกษา รวมถึงนักวิชาการและนักวิจัยในระดับอุดมศึกษาด้วย

       

ผู้ดำเนินรายการ :

   

ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC มีสาระสำคัญอย่างไร 

       

 

ผอ. กวิน :

   

ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC หมายถึง กระบวนการที่ครู รวมตัว ร่วมใจ ร่วมพลัง เรียนรู้ร่วมกัน และร่วมทำเพื่อพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งพัฒนาครูด้วยกัน จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง โดยใช้โรงเรียน ห้องเรียนเป็นฐาน และนักเรียนเป็นหน้างาน ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด และหลากหลาย เกิดการพัฒนาที่โรงเรียนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีประสิทธิภาพ ๒) เพื่อให้เกิดความร่วมมือ รวมพลังของทุกฝ่ายในการพัฒนาการเรียนการสอนสู่คุณภาพของผู้เรียน ๓) เพื่อให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยการพัฒนาผู้เรียน
หลักการที่สำคัญของ PLC คือ ๑) การสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน ๒) การปฏิบัติที่มีเป้าหมายร่วมกันคือการเรียนรู้ของผู้เรียน ๓) การร่วมมือรวมพลังของสมาชิกชุมชนวิชาชีพ ๔) การเปิดรับการชี้แนะการปฏิบัติงาน และ ๕) การสนทนาที่มุ่งสะท้อนผลการปฏิบัติงาน 

       

ผู้ดำเนินรายการ :

   

กลยุทธ์ที่สถานศึกษานำหลักการ PLC ไปใช้ในทางปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จเป็นอย่างไร  

       

ผอ. กวิน :

   

ขั้นตอนการนำรูปแบบ PLC ไปใช้ในสถานศึกษา เริ่มจากการรวมกลุ่มครูในกลุ่มสาระเดียวกันหรือครูที่สอนในระดับชั้นเดียวกันซึ่งประสบปัญหารูปแบบเดียวกัน มาร่วมกันค้นหาสาเหตุของปัญหา จากนั้นให้ร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างแผนการเรียนรู้และนำไปใช้แก้ปัญหาในชั้นเรียน หลังใช้แผนการเรียนรู้ดังกล่าวแล้ว ครูผู้สอนหรือผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมสังเกตการสอนต้องประชุมเพื่อประเมินผลและแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะสำหรับพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป หากแผนการเรียนรู้ดังกล่าวสามารถนำไปแก้ปัญหาการเรียนการสอนได้สำเร็จ จะส่งผลให้เกิดนวัตกรรมทางการศึกษาที่สามารถเผยแพร่ให้เพื่อนครูหรือผู้บริหารสถานศึกษานำไปประยุกต์ใช้ในสถานศึกษาอื่น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประโยชน์ของชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC ไม่ได้จำกัดเฉพาะการแก้ปัญหาในชั้นเรียนเท่านั้น แต่สามารถขยายผลไปสู่การแก้ปัญหาระดับสถานศึกษา เช่น ปัญหาเด็กเกเร หรือขาดเรียนบ่อยครั้ง ได้อีกด้วย 

       

ผู้ดำเนินรายการ :

   

สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล)  ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ 

       

ผอ. กวิน :

   

ครูเป็นปัจจัยความสำเร็จของการยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน ครูยุค ๔.๐ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา ดั้งนั้น ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC จึงถือเป็นอีกระบบหนึ่งที่เอื้อต่อการสรรค์สร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนต่อไป สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อเสนอแนะเรื่องชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC หรือต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สามารถส่งความความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

       

ผู้ดำเนินรายการ :

   

สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ นายกวิน เสือสกุล  ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา

     

.......................................................................................

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด