ผลการดำเนินงานในปี ๒๕๖๐-๒๕๖๒
          กฎหมาย/นโยบาย/มาตรฐาน/องค์ความรู้
          ๑. มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ
         คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป. เดิม) ซึ่งแต่งตั้งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นๆ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมกันจัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติขึ้น ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางให้ทุกหน่วยงานใช้ร่วมกันในการประเมิน เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการดูแลพัฒนา และจัดการศึกษาสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษา เป็นการปรับกระบวนทัศน์ ให้ใช้เด็กเป็นที่ตั้งของการกำหนดมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานการพัฒนามนุษย์แทนการใช้บริบทหรือหน่วยงานต้นสังกัดเป็นที่ตั้ง
         มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒ ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดย

                  • ให้ใช้เป็นมาตรฐานกลางของประเทศแทนมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กแห่งชาติเดิมที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔
                  • ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณานำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติฉบับใหม่ไปใช้เป็น แนวทางในการส่งเสริม สนับสนุนให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลและรับผิดชอบ มีการบริหารจัดการ ประเมินผลการดำเนินงานเพื่อยกระดับการพัฒนาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานฯ ดังกล่าว
                  • ให้ ศธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พม. มท. สธ. เป็นต้น ดำเนินการตามมาตรฐานฯ ให้ สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อแผนแม่บทดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว
                  • ให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน และรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นระยะหรืออย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
         สำหรับการนำมาตรฐานฯ สู่การปฏิบัติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้มีการจัดทำคู่มือมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย ตัวบ่งชี้ เกณฑ์และรายละเอียดการพิจารณา ตัวอย่าง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ โดยปี ๒๕๖๒ เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พร้อมคู่มือมาตรฐานฯ แก่กระทรวง/หน่วยงานต้นสังกัดของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ทั้งในส่วนกลางและระดับภูมิภาค ปี ๒๕๖๓ สำนักงานฯ จะติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรฐานฯ เพื่อให้เห็นถึงผลการนำมาตรฐานฯ ไปปฏิบัติ การรับรู้ ความรู้ความเข้าใจ ปัญหาอุปสรรค ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ เป็นต้น
         
         ๒. พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒
         พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ เจตนารมณ์สำคัญของพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว คือ การดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีความต่อเนื่อง ทั่วถึงและเท่าเทียม โดยให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่สร้างการมีส่วนร่วม บูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับชาติ ภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชนจนถึงครอบครัว ให้มีกระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความหลากหลายแต่เป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล เป็นหลักประกันให้เด็กปฐมวัยได้รับการเลี้ยงดู พัฒนา ให้การศึกษาและได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ
         พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้กำหนดให้มี คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ไว้ในหมวด ๒ มาตรา ๙ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ องค์ประกอบกรรมการ ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง รวม ๘ คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญและประสบการณ์สูงที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการศึกษาปฐมวัย การพัฒนาเด็กปฐมวัย การศึกษาพิเศษ การสาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ สื่อสารมวลชน ด้านละ ๑ คน การบริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยภาครัฐและภาคเอกชน ด้านละ ๑ คน รวมจำนวนกรรมการโดยตำแหน่งและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๑๖ คน ให้เลขาธิการสภาการศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้แต่งตั้งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ทำหน้าที่เป็น สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม งานวิชาการ การศึกษาข้อมูลและกิจการต่างๆ ฯลฯ เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง


         ๓. การดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาสมรรถนะตามวัยของเด็กปฐมวัย (๐-๕ ปี) เป็นโครงการที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินงานร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย ภายใต้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจปรับปรุงและจัดทำเอกสารสมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย ๐-๕ ปี โดยมี ดร.สายสุรี จุติกุล เป็นประธาน ในการปรับปรุงเอกสารสมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย ๐-๕ ปี ได้ผลผลิตจำนวน ๒ เล่ม ได้แก่
                  ๓.๑ แนวแนะวิธีการเลี้ยงดู ดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามสมรรถนะเพื่อเพิ่มคุณภาพเด็กตามวัย ๐-๕ ปี
                  ๓.๒ พฤติกรรมของเด็กกลุ่มตัวอย่างจำแนกตามสมรรถนะของเด็กปฐมวัยตามระดับควอไทล์ (Ouartile) และจำแนกตามกลุ่มอายุของเด็ก ๓-๕ ปี
ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นแนวแนะ (Guidelines) สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็กได้ใช้ในการสังเกตและมีความพยายามที่จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ปฏิบัติได้และนำไปสู่สมรรถนะ คือ การทำได้ (สิ่งที่เด็กทำได้ แสดงออกได้) แต่ไม่ใช่การบังคับให้ต้องทำ และไม่ใช่การนำไปประเมินเด็ก


         ๔. การจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๔
         (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๔ จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีความเชื่อมโยงกับทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในลักษณะของการบูรณาการ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานทุกระดับทั้งในระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติ ลดความซ้ำซ้อน และสนองต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๔ ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย...รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย ซึ่งขณะนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้นำเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อทราบเป็นข้อมูลการดำเนินงานแล้ว
         (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย นโยบาย วิสัยทัศน์ ปรัชญา เป้าประสงค์ ยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด มาตรการ และแนวทางการดำเนินงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้
         นโยบายด้านเด็กปฐมวัย ๓ ประการ ได้แก่
         ๑. เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน อย่างมีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง
         ๒. การพัฒนาเด็กตามข้อ ๑ ต้องจัดให้เป็นระบบและมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยบูรณาการชัดเจนระหว่างหน่วยงานราชการ และที่ไม่ใช่ราชการ ระหว่างวิชาชีพที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และระหว่างระดับต่างๆ ของการบริหารราชการแผ่นเดินจากระดับชาติ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
         ๓. รัฐและทุกภาคส่วนต้องร่วมกันระดมทรัพยากรให้เพียงพอแก่การพัฒนาเด็กปฐมวัยตามนโยบายข้อ ๑
         วิสัยทัศน์
         “เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพ เป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองคุณภาพ”
         เพื่อให้นโยบายด้านเด็กปฐมวัยดังกล่าวข้างต้นสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงกำหนดให้มียุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งสิ้น ๗ ยุทธศาสตร์ ดังนี้
         ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การจัดและการให้เด็กเข้าถึงบริการที่พัฒนาเด็กปฐมวัย
         ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การพัฒนาบทบาทความเป็นพ่อเป็นแม่ (Parenting) การอบรมเลี้ยงดู และบทบาทของครอบครัว
         ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการที่พัฒนาเด็กปฐมวัย
         ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การจัดระบบข้อมูลและตัวชี้วัด
         ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมาย
         ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้
         ยุทธศาสตร์ที่ ๗ การบริหารจัดการ การสร้างกลไก การประสานการดำเนินงาน และการติดตามประเมินผล

         ๕. รายงานผลการศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยของไทยและต่างประเทศ (อยู่ระหว่างดำเนินการจัดพิมพ์)
         การศึกษาเปรียบเทียบสภาพและผลการจัดการศึกษาของไทยและต่างประเทศ เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยที่พึงประสงค์ของประเทศไทยในยุค ๔.๐ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการจัดการศึกษาปฐมวัยของไทย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาปฐมวัยและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยตามบริบทของตนได้


         ๖. รายงานผลการศึกษาสภาวการณ์การจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในประเทศไทย (อยู่ระหว่างดำเนินการจัดพิมพ์)
         การศึกษาเพื่อวิเคราะห์สภาพปัจจุบันการจัดการศึกษาปฐมวัยในประเทศไทยเพื่อศึกษาผลของการจัดการศึกษาปฐมวัยในประเทศไทย ทั้งในด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ รวมถึงโอกาสการเข้าถึง และเพื่อศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาปฐมวัยของประเทศไทยในอนาคต ทั้งการศึกษารูปแบบในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย โดยหน่วยงาน องค์กรและภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่จัดและร่วมจัดการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในประเทศไทยที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑


          การจัดประชุม/สัมมนา

          ๑. จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติแก่หน่วยงานต้นสังกัด ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาค รวม ๔ ครั้ง ประกอบด้วย
              การประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ณ ห้องกรุงเทพบอลล์รูม โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพมหานคร

 

          การประชุมวิชาการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ ณ โรงแรมวีวิช อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

 

          การประชุมวิชาการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ ณ โรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 

          การประชุมวิชาการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ โรงแรมคุ้มภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

 


          ๒. ร่วมการสัมมนาวิชาการ เรื่อง มาตรฐานสถานศึกษาสู่การยกระดับคุณภาพคนไทย ๔.๐ โดยรับผิดชอบ ในห้องย่อย การศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน การนำมาตรฐานสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา จำนวน ๖ ครั้ง ณ จังหวัดชลบุรี กรุงเทพฯ อุบลราชธานี เชียงราย อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี
          ๓. จัดประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติเพื่อรองรับการประกันคุณภาพแนวใหม่ วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
          ๔. การสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย จำนวน ๘ ด้าน (๘ คน) ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒


          การจัดนิทรรศการ

          ๑. การจัดนิทรรศการเนื่องในงานวันครู ณ กระทรวงศึกษาธิการ หัวข้อ โครงการพัฒนาการศึกษาปฐมวัย (มกราคม ๒๕๖๒)
          ๒. การจัดนิทรรศการร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในงาน Thailand Social Expo วันที่ ๕–๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ อิมแพ็คอารีน่า เมืองทองธานี
          ๓. การจัดนิทรรศการร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ งานแสดงผลงานของศึกษาธิการภาค และศึกษาธิการจังหวัด วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๒ ณ โรงแรมเอสดีอเวนิว
          ๔. การจัดนิทรรศการเคลื่อนที่เพื่อใช้เผยแพร่ในการประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจในระดับภูมิภาค

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด