สภาการศึกษา : เสนาธิการด้านการศึกษาของชาติ

กำเนิด “สภาการศึกษาแห่งชาติ”

          สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในปัจจุบันมีจุดกำเนิดมาจากสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๔๙๙ เนื่องจากขณะนั้นมีมหาวิทยาลัยอยู่ต่างสังกัดกัน ๕ แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอิสระ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นโรงเรียนศิลปากรและกำลังจะเป็นมหาวิทยาลัยอยู่ในกรมศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ คือ โรงพยาบาลศิริราช สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 

           เพื่อที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยให้เข้มแข็งและมีเสถียรภาพสูง เซอร์ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ปรึกษายูเนสโกขณะนั้นเสนอแนะว่า ต้องนำมารวมกันเป็นหนึ่งมหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ จึงมีการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่รัฐมนตรีบางท่านไม่เห็นด้วย จึงจัดตั้งเป็น “สภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กับกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๑๒ คน และมีเลขาธิการสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง คือ ศาสตราจารย์ ดร.กำแหง  พลางกูร

          สภามหาวิทยาลัยแห่งชาติมีอำนาจและหน้าที่บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยต่างๆ และมีเลขาธิการสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติรับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามมติของสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ควบคุมราชการอันเป็นงานธุรการของสภา บังคับบัญชาข้าราชการในสังกัดและรับผิดชอบในราชการของสภา ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีผู้บังคับบัญชาสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ

          ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกเนตร เขมะโยธิน ซึ่งเป็นนายทหารเสนาธิการมือหนึ่งของประเทศไทยและเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เสนอแนะว่าจะต้องมีฝ่ายเสนาธิการของประเทศไทยฝ่ายพลเรือน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้จัดตั้ง “สภาการศึกษาแห่งชาติ” ขึ้น ทำหน้าที่กำหนดทิศทางของการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยได้ออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ ให้โอนกิจการและอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติมารวมไว้ในสภาการศึกษาแห่งชาติที่ตั้งขึ้นใหม่ จากนั้น ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๙๙ พร้อมกับตราพระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒ ให้มีสภาการศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน อธิการบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่เรียกชื่ออย่างอื่นของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง กับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และบุคคลอื่น ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ นอกจากนี้ ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษาของสภาการศึกษาแห่งชาติ

          หน้าที่สำคัญของสภาการศึกษาแห่งชาติ ได้แก่ พิจารณาปรับปรุง วางแผนและโครงการการศึกษาแห่งชาติ พิจารณาปัญหาทางการศึกษาและเสนอวิธีการแก้ไข พิจารณารายงานการศึกษา วางโครงการหาทุนบำรุงการศึกษา พิจารณางบประมาณของมหาวิทยาลัย การจัดตั้ง ยุบ รวม และเลิกล้มมหาวิทยาลัย รวมทั้งคณะหรือแผนกวิชา ตลอดจนให้ความเห็นชอบการวางหลักสูตรในมหาวิทยาลัย  ในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ และให้มีเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ ทำหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมติของสภาการศึกษาแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการบริหาร ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบด้วย เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติและบุคคลอื่น ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิน ๙ คน เป็นกรรมการและให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี

          ในการเปิดประชุมสภาการศึกษาแห่งชาติครั้งแรก เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๒ นั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานสภาการศึกษาแห่งชาติ ได้กล่าวปราศรัยที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการให้ความสำคัญกับการศึกษาของชาติและความคาดหวังที่จะให้สภาการศึกษาแห่งชาติทำหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างสรรค์คนในชาติไว้อย่างน่าสนใจ ดังข้อความตอนหนึ่ง ดังนี้ 
          “เป็นความปิติยินดีอย่างสูงของข้าพเจ้าอีกวาระหนึ่ง ที่ได้เปิดประชุมสภาการศึกษาแห่งชาติ ภาพที่เราแลเห็นในการประชุมครั้งนี้ เป็นที่พิสูจน์อันแน่ชัดว่า ข้าพเจ้าให้ความสำคัญแก่การศึกษามากเพียงใด  ข้าพเจ้าได้จัดให้สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นสภายิ่งใหญ่ ซึ่งถ้าลองนับจำนวนสมาชิกแห่งนี้ ก็จะได้พบประธาน รองประธาน และรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษารวม ๘ คน กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ ๖๗ คน คณะกรรมการบริหาร ๙ คน รวมตัวเลขตามรายการ ๙๐ คน มีซ้ำกัน ๑ คน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นทั้งที่ปรึกษาและประธานคณะกรรมการบริหาร จึงเป็นจำนวนที่แท้จริง ๘๙ คน มากกว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติที่ตั้งมาแล้ว จึงต้องนับว่าสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นสภาที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะมีความรับผิดชอบยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ชนในชาติให้ดียิ่งขึ้นไป และความยิ่งใหญ่ของสภานี้  ไม่เฉพาะในปริมาณเท่านั้น ในทางคุณภาพก็ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน เพราะสภาการศึกษาแห่งชาติประกอบด้วยผู้รู้  ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ  ข้าพเจ้าลองนับดูวิทยฐานะของสมาชิกสภานี้ได้พบผู้สำเร็จการศึกษาถึงขึ้นดุษฎีบัณฑิตหรือดอกเตอร์ดีกรีถึง ๒๗ คน และขั้นมหาบัณฑิตหรือมาสเตอร์ดีกรี ๑๙ คน นับว่าตู้วิชาอันใหญ่หลวงของชาติได้ถูกยกเข้ามาวางอยู่ที่ประชุมนี้”
 
          ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติคนแรก คือ ศาสตราจารย์ ดร. กำแหง  พลางกูร ขณะนั้นสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติมีข้าราชการประมาณ ๑๐ คน โดยมีบุคคลสำคัญที่มาช่วยวางระบบบริหารคือ นายภุชงค์  เพ่งศรี จากสำนักงบประมาณมาปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ และนางจำรัสรัตน์  พิชัยชาญณรงค์  จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

           ในระยะแรก สำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติใช้อาคารคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ข้างโรงพยาบาลสงฆ์เป็นสถานที่ทำงาน จนกระทั่งย้ายมาอยู่อาคารใหม่ ซึ่งเป็นอาคาร ๑ ในปัจจุบัน โดยจอมพลถนอม  กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานในปี ๒๕๑๐
 
          ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๐ นั้นเอง ประเทศไทยได้เริ่มมีการเตรียมการที่จะจัดตั้งวิทยาลัยเอกชนขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คณะกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ ได้พิจารณาเห็นว่า พระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒ เน้นเฉพาะการศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงการศึกษาทุกระดับ จึงได้มีการเสนอขอแก้ไขสาระในพระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒ ให้ขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมถึงงานในหน้าที่ตามร่างพระราชบัญญัติวิทยาลัยเอกชน  พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย และหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการศูนย์ประสานงานและการวิจัยทางการศึกษา ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๒  ซึ่งกำหนดให้มีสภาการศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน อธิการบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่เรียกชื่ออย่างอื่นของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาของรัฐ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
อธิบดีกรมการฝึกหัดครู  อธิบดีกรมการปกครอง  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่งและบุคคลอื่นซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกิน  ๗๐ คน ให้เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการสภาการศึกษาแห่งชาติ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทุกกระทรวง เป็นที่ปรึกษาของสภาการศึกษาแห่งชาติ

            ในการบริหารงาน ให้มีสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติและคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ และบุคคลอื่นอีก ๘ คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ โดยให้กรรมการบริหารเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ ให้ประธานกรรมการอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๑ ปี
 
          ผลงานสำคัญของสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ คือการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๓ แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ และฉบับที่ ๒ รวมทั้งการวางระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

ปรับเปลี่ยนเป็น “คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ”

           ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ คณะปฏิวัติได้จัดตั้งทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนขึ้น จึงมีการกำหนดหน้าที่และแบ่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องใหม่ และได้เปลี่ยนชื่อสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ให้มีหน้าที่สำคัญในงานด้านนโยบายและแผนการศึกษาทุกระดับ แต่ยังคงใช้พระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๒ จนกระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๑  ในสมัยรัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์
 
           พระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการจากที่มีกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ ๗๐ คน และมีคณะกรรมการบริหาร ๑๐ คน มาเป็น “คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ” หรือ กกศ. คณะเดียว ๑๗ คน และจากที่เคยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก็ได้เปลี่ยนเป็นให้รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน
 
           ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๕ สมัยรัฐบาลนายอานันท์  ปันยารชุน ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการ คือ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่ง ๑๒ คน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ๑๒ คน โดยต้องแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนอย่างน้อย ๕ คน เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ และรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
 
           สำหรับหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี ได้แก่ การพิจารณาและเสนอแผนการศึกษาแห่งชาติ แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ แนวนโยบายทางการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาและให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน และโครงการทางการศึกษา รวมทั้งประสานการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดและพัฒนาการศึกษาของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

            บทบาทสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติในช่วงนี้ คือ การปฏิรูปการศึกษา หลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖  โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ แต่งตั้งคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษาแล้ว ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาขึ้น เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งขณะนั้น คือ ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์  เกตุทัต

             จากข้อเสนอแนวทางในการปฏิรูปการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ได้จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ขึ้น คือ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๐ และดำเนินการปฏิรูปการประถมศึกษาโดยโอนการศึกษาประชาบาลมาอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติขึ้น

            นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติยังได้ดำเนินการตามภารกิจหลักอย่างต่อเนื่อง คือการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ระยะ ๕ ปี รวมทั้งมีการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นแผนระยะยาว

“สภาการศึกษา” ในปัจจุบัน
 

           ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการศึกษาอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและจัดการศึกษาอบรมให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ และได้รวมพลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปให้มีส่วนร่วมในการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จนกระทั่งประกาศใช้เป็นกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับแรก ตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

            จากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และการปฏิรูประบบราชการ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ส่งผลให้มีการปรับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ โดยมีการรวมกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งเป็นกระทรวงศึกษาธิการใหม่ มีการบริหารที่เป็น “คณะบุคคล” ในรูป “สภา” และ “คณะกรรมการ”
 
            การเปลี่ยนแปลงระบบบริหารครั้งนี้ส่งผลให้ “คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ” ต้องปรับเปลี่ยนองค์ประกอบใหม่เป็น “สภาการศึกษา” ในปัจจุบัน
 
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดให้ “สภาการศึกษา” มีหน้าที่พิจารณาเสนอแผนการศึกษาแห่งชาติที่บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬากับการศึกษาทุกระดับ พิจารณาเสนอนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา พิจารณาเสนอนโยบายและแผนในการสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ดำเนินการประเมินผลการจัดการศึกษา รวมทั้งให้ความเห็นหรือคำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือคณะรัฐมนตรี


            ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จึงปรับเปลี่ยนมาเป็น “สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา” ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นองค์กรหลักหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดทิศทางและนโยบายด้านการศึกษาของชาติ พัฒนานโยบาย และประสานการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ นโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษาของชาติ โดยใช้องค์ความรู้ด้านการวิจัยและประเมินผลเป็นฐาน

 

           ในช่วงการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่เป็นสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจนถึงปัจจุบัน สกศ. ได้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ จัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติ และจัดทำกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ระยะ ๕ ปี ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษาต่อไป

            ด้วยบทบาทหน้าที่ที่มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของชาติ “สภาการศึกษาแห่งชาติ” “คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ” และ “สภาการศึกษา” จึงประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงปัญญาจากหลากหลายสาขาและจากหลากหลายหน่วยงานที่มาร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งเปรียบเสมือนสมองของชาติด้านการศึกษา นอกจากนี้ จากองค์ประกอบและบทบาทความรับผิดชอบใหม่ของ “สภาการศึกษา” ในปัจจุบัน ส่งผลให้ “สภาการศึกษา” ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อก้าวไปสู่การเป็น “สภา” ที่ระดมสมองและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด