สภาการศึกษา Connect มทร. ขับเคลื่อน NQF ระดับอุดมศึกษา สู่การพัฒนาบัณฑิตสมรรถนะสูง

image

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ครั้งที่ 5/2567 โดยมี รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ พร้อมด้วย นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) คณะผู้บริหาร มทร. ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมนริศรา อาคาร 5 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่จักรพงษภูวนารถ กรุงเทพมหานคร

ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา นำเสนอข้อมูลเรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) กับการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) กล่าวว่า สกศ. ได้เล็งเห็นถึงการจัดทำแนวทางการเชื่อมโยงหลักสูตรแต่ละระดับตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับ มทร. ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีเป้าหมายในการผลิตและพัฒนาบัณฑิตสมรรถนะสูง ที่มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งสายวิชาการ-สายปฏิบัติเชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ/องค์กรวิชาชีพ/มาตรฐานสากลร่วมกับองค์กร/หน่วยงาน/สถานประกอบการ ตลอดจนมีระบบและกลไกในการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตภายในเครือข่ายของ มทร. ทั้งนี้ หากหลักสูตรมีความเชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติจะนำมาสู่การเก็บสะสมในระบบธนาคารหน่วยกิตได้ โดยกรอบคุณวุฒิแห่งชาติทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างคุณวุฒิการศึกษา (การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และการอุดมศึกษา) กับมาตรฐานอาชีพ โดยกรอบคุณวุฒิแห่งชาติมี 8 ระดับ (ระดับ 1 มัธยมศึกษาตอนต้น ถึง ระดับ 8 ปริญญาเอก) และเชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ซึ่งมี 8 ระดับเช่นเดียวกัน โดยประเทศไทยได้รับการรับรองการเทียบเคียงอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563

นอกจากนี้ที่ประชุมร่วมรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) ความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะและความรับผิดชอบ (Application and Responsibility) หรือผลลัพธ์การเรียนรู้มาสะสมและเทียบโอนความรู้และประสบการณ์เก็บสะสมในระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติได้ โดยวาง 3 แนวทางขับเคลื่อนอาจเริ่มจาก 1) หลักสูตรสหกิจศึกษาหรือหลักสูตรที่บูรณาการกับการทำงาน (Cooperative Work Integrated Education: CWIE) 2) หลักสูตรที่เชื่อมโยงกับอาชีพตามกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และ 3) หลักสูตรที่เชื่อมโยงกับอาชีพตาม 8 วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ตลอดจนเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด