สกศ. ระดมไอเดียวิเคราะห์ IMD 2023 เฟ้นแนวทางเพิ่มสมรรถนะการศึกษาสู่เวทีสากล

image

วันที่ 11 มิถุนายน 2567 สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาความก้าวหน้ารายงานสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล ปี 2566 (IMD 2023) โดยมี นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ภาคเอกชน บริษัทสตาร์ทอัพด้าน EdTech ข้าราชการและบุคลากร สกศ. ร่วมประชุม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

ที่ประชุมร่วมรับฟังการนำเสนอ (ร่าง) รายงานสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล ปี 2566 (IMD 2023) โดย กลุ่มวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ดำเนินการวิเคราะห์ตัวชี้วัดด้านการศึกษาและการเปรียบเทียบสมรรถนะในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยกับนานาชาติ ซึ่งจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาปี 2023 จำนวน 64 ประเทศ ประกอบด้วยตัวชี้วัดทั้งหมด 19 ตัวชี้วัด พบว่า ประเทศไทยมีผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศภาพรวมดีขึ้น อยู่ในอันดับที่ 30 เพิ่มขึ้น 3 อันดับจากปีก่อน (ปี 2022 อันดับ 33) เมื่อพิจารณาปัจจัยย่อยด้านการศึกษา พบว่า อยู่อันดับที่ 54 ในภาพรวมค่อนข้างคงที่ โดยมีตัวชี้วัดด้านการศึกษาที่มีอันดับดีขึ้น จำนวน 6 ตัวชี้วัด ซึ่งตัวชี้วัดที่มีการพัฒนาปรับปรุงสูงคือ งบประมาณรวมด้านการศึกษาต่อนักเรียนทุกระดับการศึกษาอยู่ที่ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 306 ดอลลาร์สหรัฐจากปีก่อน และมีตัวชี้วัดที่อันดับไม่เปลี่ยนแปลง จำนวน 3 ตัวชี้วัด ทั้งนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังคงเป็นอันดับ 1 ในประเทศที่มีผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษา

ด้านประเด็นวิเคราะห์ความท้าทาย ประเทศที่มีพัฒนาการของผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาอย่างก้าวกระโดด ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก และเบลเยียม ซึ่งประเทศไทยจากผลการวิเคราะห์ SWOT ตัวชี้วัดการศึกษา ในด้าน Opportunity (โอกาส) พบว่า การศึกษาระดับประถมและมัธยมตอบสนองความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจอยู่ในอันดับ 32 ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุด (ขยับขึ้น 11 อันดับจากปีก่อน) การศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ตอบสนองความสามารถในการแข่งขัน มีระดับความคิดเห็นอยู่ที่ 6.34 คะแนน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและผลอันดับก็มีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากปัจจัยบ่งชี้แนวโน้มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศจะนำไปสู่ความน่าดึงดูดในการลงทุนที่สำคัญและการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันที่ท้าทาย

จากนั้นที่ประชุมร่วมให้ข้อคิดเห็น/คำปรึกษาเชิงนโยบายในประเด็นแนวทางการจัดทำนโยบายและยกระดับสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล กล่าวถึง สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การบริหารการศึกษาต้องเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาของประเทศ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนรวมถึงผู้ประกอบการได้เข้ามามีส่วนร่วมออกแบบการผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ผู้เรียนสามารถ Up-skill Re-skill New-skill เพิ่มสมรรถนะได้ตลอดเวลา จัดการเรียนการสอนที่เน้นการประยุกต์ใช้ได้จริง โดยเปิดกว้างตามบริบทเป็นไปตามความต้องการของผู้เรียน รวมถึงวิชาภาษาอังกฤษควรส่งเสริมการพูดเน้นบทสนทนาสั้นๆ และการเขียนเบื้องต้นเพื่อสามารถนำไปใช้ได้จริงในการดำเนินชีวิตประจำวัน 

ทั้งนี้ สกศ. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษาของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยให้มีขีดความสามารถเต็มตามศักยภาพ จะรวบรวมและวิเคราะห์ข้อเสนอแนะเพื่อจัดทำรายงานเป็นฐานข้อมูลแก่หน่วยงานต่าง ๆ ให้พร้อมร่วมมือพัฒนาการศึกษาไทยทัดเทียมกับนานาชาติต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด