ซูเปอร์บอร์ดปฐมวัย ชงด่วนศบค.ห้ามจัดสอบอนุบาลขึ้น ป.๑ เด็ดขาดสตาร์ทปี ๖๕

image

*สกัดคลัสเตอร์เด็กพุ่ง-ดันพาสชั้นได้เลย 
#ตรีนุช รับหารือรมว.อว.นำร่องรร.สาธิตฯ



     วันนี้ (๒๙ กันยายน ๒๕๖๔) รองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) มอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ผ่านเครือข่ายระบบออนไลน์ โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) พร้อมผู้แทนหลักความร่วมมือพัฒนาปฐมวัย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมออนไลน์ ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)


     ที่ประชุมพิจารณาและเห็นชอบวาระสำคัญมาตรการห้ามจัดสอบวัดความสามารถทางวิชาการและสมรรถนะอื่น ๆ ของเด็กปฐมวัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-๑๙ ในปีการศึกษา ๒๕๖๔ และที่จะเข้าศึกษาต่อในปีการศึกษา ๒๕๖๕ ตามที่ทางคณะอนุกรรมการกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิ ที่รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุ ฯ ได้พิจารณาจากข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน - กรกฎาคม ๒๕๖๔ มียอดเด็กติดเชื้อโควิด-๑๙ จำนวน ๕.๗๒ หมื่นคน และเสียชีวิต ๖ ราย สะท้อนข้อเท็จจริงมีเด็กเล็กติดเชื้อโควิด-๑๙ จำนวนมากซึ่งเป็นความวิตกของการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันและการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่ให้ชะงัก แม้ว่าจะมีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์รองรับเด็กปฐมวัยแต่ไม่เกิดประสิทธิภาพมากนักในส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเล็ก คณะอนุ ฯ กฎหมายและการคุ้มครองสิทธิ พิจาณาอย่างรอบด้านทั้งในแง่กฎหมาย ความกังวลการแพร่ขยายคลัสเตอร์เด็กติดเชิ้อโควิด-๑๙ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และผลกระทบโควิด-๑๙ ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กเล็กการหยุดชะงักในช่วงปิดเรียนระยะยาว โดยเสนอให้งดสอบข้อเขียนทางวิชาการทุกรูปแบบ และให้สถานศึกษาใช้การประเมินระหว่างเรียนที่ไม่ใช่การสอบข้อเขียน หรือการเลื่อนชั้นกรณีพิเศษในสถานการณ์โควิด-๑๙ 
.
     ทั้งนี้ ยังห้ามสอบเข้าชั้น ป.๑ ในปีการศึกษา ๒๕๖๕ โดยเสนอสถานศึกษาพิจารณาเรียกเข้าเรียนก่อน-หลัง จับสลาก หรือจัดเป็นโควต้าเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ฯลฯ สร้างให้เป็นบรรทัดฐานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน พร้อมมอบหมาย สกศ. จัดทำมาตรการงดจัดสอบวัดความสามารถทางวิชาการและสมรรถนะอื่น ๆ ของเด็กปฐมวัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-๑๙ เสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (ศบค.) ออกประกาศและระเบียบปฏิบัติใช้บังคับต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินการตามลำดับ ทั้งนี้ รมว.ศธ. รับทราบแนวทางและสนับสนุนแนวทางดังกล่าวเต็มที่โดยเตรียมหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขับเคลื่อนการปฏิบัตินำร่องในโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยแนวทางเดียวกัน    
.
     ที่ประชุมเห็นชอบการจัดโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังของสำนักงานเลขานุการคณะคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินงานพัฒนาปฐมวัยตามที่ได้รับมอบหมายงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ และมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ ทั้งนี้ โครงสร้างปัจจุบันสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย สกศ. มีอัตราข้าราชการจำนวน ๑๐ คน ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งมีภารกิจเพิ่มขึ้นตามลำดับในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยเสนอโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังใหม่ ที่มี ๔ กลุ่มงาน และ ๑ ฝ่าย เพิ่มกรอบอัตราขึ้นอีกจำนวน ๒๖ คน ซึ่งมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านปฐมวัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วยกับแนวดังกล่าวและต้องไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) พร้อมให้ข้อเสนอแนะตั้งข้อสังเกตหลายประการ อาทิ กรอบอัตรากำลังที่จะมาทำหน้าที่ในสำนัก ฯ ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะ ควรเพิ่มข้าราชการในส่วนทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิเด็กและรับเรื่องร้องเรียนที่มีความรู้ด้านกฎหมายและการสังคมสงเคราะห์สามารถประสานงานกับ พม. และ มท. ในภูมิภาคได้ ตลอดจนฝากทาง สกศ. ปรับระบบการบริหารงานที่มีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งจะได้รายงานเสนอ รมว.ศธ. พิจารณาตามลำดับเพื่อให้เป็นสำนักตามโครงสร้างการบริหารราชการ ศธ. ต่อไป 
.

     นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ ฯ รวม ๖ คณะ ที่มีผลงานสำคัญ อาทิ การปรับแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๗๐ ตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ ให้ประกาศแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๗๐ ในราชกิจจานุเบกษา ให้จัดประชุมแบบออนไลน์เกี่ยวกับการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อชี้แจง/ทำความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดและผู้ปฏิบัติจากทั้ง ศธ.-พม.-สธ.-พม. ที่ต้องนำแผนสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติในภาคเอกชน ประสานงานให้หน่วยงานของรัฐและ อปท. ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย จัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ฯ พร้อมเตรียมจัดพิมพ์เล่มรายงานการติดตามการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ รวมทั้งการพัฒนาระบบฐานข้อมูลปฐมวัย Big data เชื่อมโยงระหว่าง ศธ.-พม.-สธ.-พม. โดยพิจารณาสนับสนุนงบประมาณที่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดความราบรื่นและไม่ขาดตอนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ และมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑

ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม enlightened  https://www.facebook.com/media/set?vanity=627180797293850&set=a.6544405792237958

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด