เห็นชอบร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ดร.วิษณุ ชื่นชมทำแผนเสร็จใน ๑ เดือนครอบคลุม-ทันเวลา ปลื้ม สกศ. รับภาระใหญ่ต้องเสริมอัตราข้าราชการ
วันนี้ (๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ โดยรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
(นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) พร้อมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ๑ ชั้น ๓ ทำเนียบรัฐบาล
ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางถึงการเร่งขับเคลื่อนงานเด็กปฐมวัยตามพระราชบัญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ ภายใต้ความร่วมมือ ๔ หน่วยงานหลัก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ
ทั้งนี้ สกศ. ได้นำเสนอ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๗๐ ซึ่งผ่านกระบวนการศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์งานวิชาการอย่างรอบด้านและหลากหลาย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐) และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จากคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มี รองศาสตราจารย์อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ เป็นประธาน โดยกำหนด ๗ ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ๑) การจัดและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย ๒) การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ๓) การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการพัฒนาเด็กปฐมวัย ๔) การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศเด็กปฐมวัย และการนำไปใช้ประโยชน์
๕) การจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการ และการดำเนินการตามกฎหมาย ๖) การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ และ ๗) การบริหารจัดการ การสร้างกลไก การประสานการดำเนินงาน และการติดตามประเมินผล โดยที่ประชุมอภิปรายถึงสาระสำคัญ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัดรายยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด/ค่าเป้าหมาย มาตรการ แนวทางการดำเนินงานและหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายตามกรอบดำเนินการระยะเวลา ๒ ช่วง ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๖๕) และระยะกลาง (พ.ศ. ๒๕๖๖ - ๒๕๗๐) เพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ
ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานซูเปอร์บอร์ดเด็กปฐมวัย แสดงความชื่นชมคณะอนุ ฯ เฉพาะกิจจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย จัดทำร่างแผน ฯ ได้อย่างครอบคลุมสาระสำคัญและทันต่อสถานการณ์ขับเคลื่อนงานได้ภายใน ๑ เดือน และตั้งข้อสังเกตระยะเวลาใช้บังคับและดำเนินการแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๗๐ เป็นห้วงเวลา ๗ ปี ควรปรับห้วงเวลาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) ที่มีระยะปรับปรุงทุก ๕ ปี หรือแบ่งแผนงานขับเคลื่อนออกเป็น ๒ ช่วงเวลา คือ แผนระยะ ๒ ปี และแผนระยะ ๕ ปี
เพื่อระบุการดำเนินงานที่มีความชัดเจน ซึ่งเป็นวิธีการทางเทคนิคของการขับเคลื่อนแผนที่มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามบทบัญญัติตามมาตรา ๒๕๘ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ให้ความสำคัญด้านการปฏิรูปศึกษา เด็กเล็กต้องได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย พร้อมมอบหมาย สกศ. ปรับแก้ไขห้วงระยะเวลาให้เหมาะสมสอดคล้องกับแผนงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบตามลำดับ
ทางด้าน ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า น่ายินดี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงการขับเคลื่อนงานของ สกศ. ตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี และรับผิดชอบภารกิจที่มีความกว้างขวางและต้องบูรณาการงานร่วมกับหลากหลายหน่วยงาน จึงได้มอบหมาย สกศ. เร่งจัดทำแผนปรับเพิ่มอัตราข้าราชการในสังกัดที่รับผิดชอบงานการพัฒนาปฐมวัยเพื่อรายงานเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณา (ร่าง) กำหนดองค์ประกอบคณะอนุกรรมการ ภายใต้ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่มี ๕ คณะ ประกอบด้วย ๑) คณะอนุ ฯ พัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย ๒) คณะอนุ ฯ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ ๓) คณะอนุ ฯ วิจัย พัฒนา และจัดการองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ๔) คณะอนุ ฯ กฎหมายและการคุ้มครองสิทธิ และ ๕) คณะอนุ ฯ ด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีการพิจารณา (ร่าง) องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมถึง (ร่าง) องค์ประกอบคณะอนุ ฯ ที่เกี่ยวข้องทั้ง ๕ คณะ
ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่นี่