รายการช่วยคิดช่วยทำ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ ออกอากาศวันศุกร์ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๓๕ – ๐๖.๐๐ น. เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่ศึกษามัธยมศึกษา วิทยากร ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการกระทรวงการศึกษา

image

          คุณศิริบูรณ์ : สวัสดีค่ะ พบกันอีกครั้งกับรายการช่วยคิดช่วยทำ รายการของเราออกอากาศทุกเช้าจันทร์ถึงวันศุกร์ วันนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา จะสนทนาเรื่องการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งท่านจะกล่าวถึงสาเหตุและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากฉบับเดิม
          ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง : การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็น ๔ ช่วงชั้น คือ ช่วงชั้นที่ ๑  (ป.๑ – ป.๓) ช่วงชั้นที่ ๒ (ป.๔ – ป.๖) ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑ – ม.๓) และช่วงชั้นที่ ๔ (ม.๔–ม.๖) รวมทั้งสิ้น ๑๒ ชั้นปี โดยที่ผ่านมาในระดับมัธยมศึกษาจะอยู่ภายใต้การดูแลของกรมสามัญศึกษา และในระดับประถมศึกษาจะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ทั้งนี้ การดำเนินงานของทั้งสองฝ่ายจะมีความต่อเนื่องและผูกพันใกล้ชิด แต่ปัจจุบันเกิดหน่วยงานใหม่ คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีจำนวนนักเรียนที่อยู่ในความดูแลประมาณ ๘ ล้านคน มีจำนวนครูประมาณ ๔ แสนคน และมีจำนวนโรงเรียน ๓ หมื่นกว่าโรง โดยไม่รวมนักเรียนและครูของเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          ดังนั้น การบริหารงานจากศูนย์กลางออกไปยังโรงเรียน ๓ หมื่นกว่าแห่งในต่างจังหวัด  จะเป็นไปได้ยาก เพราะส่วนกลางไม่สามารถรู้ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในท้องที่บ้าง ความคิดที่จะแบ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจึงเกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว โดยมีการจัดตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารวมทั้งสิ้น ๑๘๕ เขต จังหวัดเล็กมี ๑ เขต ส่วนจังหวัดใหญ่แบ่งเป็น ๒ - ๓ เขต ขึ้นอยู่กับปริมาณโรงเรียน นักเรียน และครู
           ผ่านไประยะหนึ่งเริ่มพบร่องรอยของความขลุกขลักบางประการ ทั้งด้านการบริหารงานบุคคลอันเนื่องมาจากการควบรวมของทั้ง ๒ กรมที่มีธรรมชาติในการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน โดยครูระดับประถมศึกษาจะสามารถสอนได้หลายวิชาและสลับวิชากันได้ ในขณะที่ครูระดับมัธยมศึกษาจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะวิชาซึ่งไม่สามารถสอนข้ามวิชาได้ อีกทั้งธรรมชาติของเด็กที่อยู่ในความดูแลมีช่วงอายุที่ต่างกัน ทำให้ต้องใช้หลักจิตวิทยา และทักษะการสอนแตกต่างกันด้วย ส่งผลให้เกิดแนวความคิดที่จะแบ่งทั้ง ๒ กรมออกจากกันเสมือนห้อง ๒ ห้องแต่ยังคงอยู่ภายใต้บ้านหลังเดียวกัน
          ประเด็นความคิดข้างต้นได้ถูกกล่าวถึงมานานแล้ว และพยายามจะใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ  ปี ๒๕๕๐ หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขกฎหมาย ๓ ฉบับ ซึ่งเป็น      กฎหมายชุดในเรื่องนี้ และมีการประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ โดยกฎหมายได้กล่าวไว้ว่าต้องมีการแบ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาออกเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจะไม่ระบุจังหวัด เพราะเหตุว่าจำนวนโรงเรียนมัธยมศึกษาในแต่ละจังหวัดมีไม่เท่ากัน จังหวัดที่มีขนาดเล็ก เช่น สิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาทและอ่างทอง จะรวมเป็น ๑ เขต เพราะบางจังหวัดมีเพียง  ๓ - ๕ โรงเรียนเท่านั้น ในส่วนนี้จะช่วยให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
          สำหรับการเรียงเลขยังคงเดิมและต่อด้วยชื่อจังหวัด ตัวอย่างเช่น โรงเรียนประถมศึกษาปีที่ ๑ - ๖ จะอยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาต่อด้วยชื่อจังหวัด... เขต... บางจังหวัดที่มีเขตเดียวจะไม่มีเลข เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง รวมทั้งโรงเรียนประถมศึกษาในกรุงเทพมหานคร เพราะเมื่อแยกโรงเรียนมัธยมศึกษาออกแล้ว ทำให้จำนวนโรงเรียนลดลง เนื่องจากโรงเรียนประถมศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดกรุงเทพมหานคร จึงยุบรวมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานครเหลือเพียง ๑ เขตเท่านั้น ส่งผลให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามีจำนวน ๑๘๓ เขต ส่วนโรงเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๑ - ๖ จะอยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาต่อด้วยเขต... และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามีจำนวน ๔๒ เขต รวมทั้งสิ้น ๒๒๕ เขต 
          ส่วนโรงเรียนขยายโอกาส คือ มีทั้งโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาอยู่รวมกัน ซึ่งมีจำนวนโรงเรียน ๗,๐๐๐ กว่าแห่ง นักเรียนประมาณ ๒ ล้านคน แต่เมื่อย้อนไปพิจารณาการศึกษาขั้นพื้นฐานจะพบว่าโรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่เริ่มจากระดับประถมศึกษา เมื่อถึงระดับมัธยมศึกษาแล้วพบว่าจำนวนนักเรียนลดลง เพราะฉะนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงให้อยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาไปก่อน ซึ่งหากมีเหตุจำเป็นในอนาคตก็สามารถนำมาอภิปรายในภายหลังได้ เช่น โรงเรียนประถมศึกษาอาจจะมีจำนวนมากจนต้องยุบตัวลงก็เป็นไปได้
           ที่ผ่านมาได้มีการประชุมเกี่ยวกับโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติให้โรงเรียน ๑ แห่ง คือ โรงเรียนวัดคลองสน อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ย้ายมาอยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เนื่องจากโรงเรียนดังกล่าวมีแผนที่จะเปิดเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาต่อไป เพราะโรงเรียนประถมศึกษามีจำนวนเพียงพอแล้ว อีกทั้งการเดินทางการคมนาคมสะดวก จึงคิดว่ารับเด็กโตดีกว่า เพื่อที่จะทำให้การศึกษาระดับมัธยมศึกษามีความเข้มแข็งขึ้น ทั้งนี้การแบ่งส่วนที่เกิดขึ้นนั้น น่าจะส่งผลดีต่อการบริหารงานและดูแลในแต่ละระดับ เพราะจะทำให้เกิดความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นในส่วนของการบริหารจัดการ การนิเทศ การแนะนำ และการแก้ปัญหา โดยคาดหวังว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างใกล้ชิด ไม่มีการเกี่ยงความรับผิดชอบ ผู้บริหารการศึกษาจะต้องมีความสันทัดในงานที่รับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยให้เกิดความร่วมมือมากขึ้น ทำให้ได้คนที่ถนัดงานเรื่องนั้นๆ มาร่วมงาน อีกทั้งยังเป็นเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพของตนเอง (Career path) ของทั้งครูประถมศึกษา และครูมัธยมศึกษาซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจในสิ่งนี้ อย่าให้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนป้าย หากแต่ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน และวิธีคิดด้วย
          คุณศิริบูรณ์ : มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องจำนวนบุคลากรด้วยหรือไม่
          ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง : สำหรับจำนวนบุคลากรจะมีการเกลี่ยจากบุคลากรที่มีอยู่ในเขตพื้นที่เดิม ซึ่งจะทำให้มีตำแหน่งเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ตำแหน่งผู้อำนวยการ ส่วนตำแหน่งรองผู้อำนวยการจะยุบจากเขตพื้นที่เดิมที่เกินอยู่ และมาเกลี่ยให้อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ทั้งนี้จำเป็นจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพื่อให้เกิดจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มคุณภาพในการทำงาน ไม่ใช่เพื่อให้เกิดตำแหน่งเพิ่มขึ้นหรือเพื่อที่จะเปลี่ยนป้าย ซึ่งคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการเรียนการสอนในภายภาคหน้า
          คุณศิริบูรณ์ : ไม่ว่าจะแบ่งเขตพื้นที่อย่างไร ที่สำคัญขอให้ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของประเทศให้มากที่สุด มุ่งประโยชน์ที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ วันนี้ศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา และดิฉันลาไปก่อน สวัสดีค่ะ

ศูนย์ประชาสัมพันธ์การศึกษา สกศ.

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด