สกศ. ร่วมวางแนวนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสู่การปฏิบัติ
วันที่ 6 ธันวาคม 2567 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อเก็บข้อมูลตามมิติทางอำนาจของชาติด้านสังคมจิตวิทยาการขับเคลื่อนนโยบายด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีผู้บริหารองค์กรหลักและในกำกับเข้าร่วมการประชุม ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ คณะผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และมูลนิธิสตาร์ฟิช เอ็ดดูเคชั่น ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของทุกหน่วยงานที่ควรผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยต้องการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา (Thailand Zero Dropout) ด้วยกลไกการพัฒนา 4 แนวทางหลัก “ป้องกัน แก้ไข นำกลับและส่งต่อ ติดตามดูแล” นำไปสู่ผู้เรียน "เรียนดี มีความสุข"
นางอำภา พรหมวาทย์ กล่าวว่า สกศ. เร่งดำเนินการตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย 1) แก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบ ได้ดำเนินการวางแพลตฟอร์มเชิงระบบเพื่อกำกับและติดตาม 2) ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น (Research Unit) เป็นการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านการศึกษา พร้อมจัดการเรียนรู้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก 3) ขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เป็นการเทียบโอนผลการเรียนเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษายกระดับคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน 4) ร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายในการลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างโอกาสทางการศึกษา เป็นการร่วมมือกับองค์กรภายนอกเช่น Starfish Education ผลจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ สกศ.จะนำไปพัฒนานโยบายที่ตอบโจทย์เพื่อรองรับบริบทการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงเพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม พัฒนาทุนมนุษย์ที่พร้อมแข่งขันในเวทีโลก