สื่อเพื่อฟื้นฟูการพัฒนาเด็กปฐมวัยในวิถีชีวิตใหม่
วันนี้ (1 ธ.ค.2565) อนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2 ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต สกศ. โดยมีนางสาวสุภาวดี หาญเมธี เป็นประธานการประชุม อนุกรรมการประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและผู้แทนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยรูปแบบการประชุมเป็นออนไซต์และออนไลน์
.
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เด็กปฐมวัยหยุดไปสถานพัฒนาเด็ก ครอบครัว ไม่มีการพัฒนาอย่างเหมาะสม พัฒนาทั้ง 4 ด้านลดลง ได้แก่ ด้านร่างกาย เด็กระดับล่างขาดโภชนาการ เด็กในเมืองเคลื่อนไหวน้อยลง ด้านอารมณ์จิตใจ ขาดกิจวัตรการเคลื่อนไหว ขาดการเล่น การอ่านนิทานน้อยลง เด็กถูกทำร้ายใช้ความรุนแรงมากขึ้น เป็นที่รองรับอารมณ์เครียดของผู้ใหญ่มากขึ้น ด้านสังคม ขาดโอกาสเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน การเรียนรู้ผ่านภาษาไทยน้อยลง และด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ ขาดประสบการณ์ที่หลากหลาย การเรียนรู้ออนไลน์ไม่มีผลทางบวกใดๆ ต่อเด็กปฐมวัย
.
การประชุมครั้งนี้จึงเร่งหารือโครงการ “สื่อเพื่อฟื้นฟูการพัฒนาเด็กในวิถีชีวิตใหม่” โดยมีเป้าหมาย คือ ทิศทางการฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัยอย่างมีเอกภาพ มีพลังบนฐานวิชาการในนามของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย บนหลักการการมีส่วนร่วมและการสร้างการเรียนรู้ทุกระดับของสังคม
.
อนุกรรมการชุดนี้มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการฟื้นฟูการพัฒนาเด็กปฐมวัย คือ “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” ดังนี้ 3 เร่ง ได้แก่ 1) การกำหนดให้การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นวาระแห่งชาติ 2) ให้ความรู้ เพิ่มพื้นที่การใช้สื่อที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยแก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูและผู้ดูแลเด็ก 3) ค้นหาเยียวยาและพัฒนาเด็กปฐมวัยในครอบครัวเปราะบาง เด็กในสถานสงเคราะห์เด็ก หรือเผชิญภาวะวิกฤตอย่างเร่งด่วน 3 ลด ได้แก่ 1) ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง 2) ลดความเครียดในเด็ก 3) ลดการใช้ความรุนแรง และ 3 เพิ่ม ได้แก่ 1) เพิ่มกิจกรรมฟื้นฟูพัฒนาการที่เสียไป 2) เพิ่มสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 3) เพิ่มศักยภาพของระบบนิเวศใกล้ตัวเด็ก
.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะเป็นเจ้าภาพหลัก การดำเนินงานใช้รูปแบบ การอบรมนักสื่อสารรุ่นใหม่ การจัดค่ายพัฒนางานสื่อ การจัดเวทีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยวิถีใหม่ จนได้ผลผลิตคือชุดสร้างสรรค์ต่าง ๆ อาทิ คลิป อินโฟกราฟิก บทความ เป็นต้น นำไปพัฒนาเป็นสื่อเพื่อเผยแพร่แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กและบุคลากรที่เกี่ยวข้องไปใช้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัยท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างเหมาะสมต่อไป