IMD 2020 อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย ปี 2563

image

 

อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย ในปี 2020
อยู่อันดับที่ 55 ดีขึ้นจากปี 2019 หนึ่งอันดับ

ขณะที่อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย IMD 2020
อยู่อันดับที่ 29 ลดลง 4 อันดับ จากประเทศที่เข้าร่วมทั้งหมด 63 ประเทศ

 

สํานักวิจัยและพัฒนาการศึกษา 
สํานักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปี 2020 IMD ได้ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจาก 63 ประเทศ 337 ตัวชี้วัดที่ประกอบด้วยข้อมูลสำรวจทัศนคติ (Survey Data) จำนวน 92 ตัวชี้วัด ข้อมูลที่ได้จากแบบสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารภาคธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 27 และข้อมูลเชิงสถิติหรือข้อมูลเชิงประจักษ์ (Secondary Data หรือ Hard Data) จำนวน 245 ตัวชี้วัด คิดเป็นร้อยละ 73 ที่ได้ข้อมูลมาจากองค์กรนานาชาติ อาทิ IMF, World Bank, OECD, ILO และข้อมูลจากประเทศสมาชิก

 

การจัดกลุ่มเกณฑ์ตัวชี้วัดของ IMD แบ่งออกเป็น 4 ปัจจัย (Competiveness Factors) มีน้ำหนักร้อยละ 25 เท่ากันทุกกลุ่ม คือ (1) สมรรถนะเศรษฐกิจ (Economic Performance) (2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) (3) ประสิทธิภาพของภาคเอกชน (Business Efficiency) (4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และในแต่ละปัจจัยประกอบด้วย 5 ปัจจัยย่อย (Sub-Factor) ซึ่งแต่ละปัจจัยย่อยมีจำนวนตัวชี้วัดไม่เท่ากัน มีการจัดเก็บข้อมูลช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน และประกาศผลการจัดอันดับเดือนพฤษภาคม โดยมีสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA) เป็นผู้ประสานในประเทศไทย

 

ในภาพรวม สิงคโปร์ครองอันดับที่ 1 อันดับ 2 เป็นเดนมาร์กจากเดิมในปี 2018 อยู่อันดับที่ 8 ขึ้นมาแทนที่ฮ่องกง อันดับที่ 3 เป็นสวิสเซอร์แลนด์ และอันดับที่ 4 เป็นเนเธอร์แลนด์ สำหรับประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่ 29 ลดลงจากปี 2019 ถึง 4 อันดับ หากพิจารณาเฉพาะ 5 ประเทศอาเซียนประเทศไทยคงอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และสูงกว่าฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย 

 

อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมของอาเซียน

ในปี 2020 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 29 ลดลง 4 อันดับจากปี 2019

สูงกว่าฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย

ที่มา : IMD World Competitiveness Yearbook 2019-2020

 

อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดย่อยหนึ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐานจาก 18 ตัวชี้วัด ในปี 2020 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 ดีขึ้นจากปี 2019 หนึ่งอันดับ จากที่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2015 โดยตัวชี้วัดที่ดีขึ้น 6 ตัวชี้วัด ตัวชี้วัดที่อันดับลดลง 10 ตัวชี้วัด และอันดับเท่าเดิม 2 ตัวชี้วัด

 

จุดแข็งด้านการศึกษา คือ ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ในเรื่องความคิดเห็นต่อการตอบสนองความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระบบการศึกษา ความคิดเห็นต่อการตอบสนองความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และความคิดเห็นต่อการจัดการศึกษาสาขาบริหารจัดการที่ตอบสนองต่อความต้องการภาคธุรกิจ ดีขึ้นจากปี 2019 ถึง 6 อันดับ อัตราส่วนนักเรียนต่อครูในระดับประถมศึกษา ดีขึ้นจากปี 2019 ถึง 4 อันดับ และอัตราส่วนนักเรียนต่อครูในระดับมัธยมศึกษา ดีขึ้นจากปี 2019 ถึง 3 อันดับ

 

จุดอ่อนด้านการศึกษา คือ ร้อยละของงบประมาณภาครัฐที่ใช้ในการศึกษาลดลงจากปี 2019 ถึง 7 อันดับ ร้อยละของประชากรที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาลดลงจากปี 2019 ถึง 7 อันดับ ร้อยละของงบประมาณภาครัฐที่ใช้ในการศึกษาต่อนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และร้อยละของผู้หญิงที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทลดลงจากปี 2019 ถึง 2 อันดับ 

 

อย่างไรก็ตาม อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยจะสูงขึ้นได้ต้องมีความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานที่จัดทำ จัดส่งข้อมูล และหน่วยวิเคราะห์ข้อมูล ควรนำผลการจัดอันดับไปใช้วิเคราะห์และพิจารณาถึงจุดอ่อน จุดแข็ง ในส่วนที่รับผิดชอบสำหรับการพัฒนาคุณภาพข้อมูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประสานกับสถาบันการจัดอันดับเพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสาร และการพัฒนาเกณฑ์ตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และต้องสร้างความรู้ความเข้าใจถึงผลการจัดอันดับ การนำไปใช้ ตลอดจนการตีความหมายของตัวชี้วัดต่างๆ เพราะการดูอันดับไม่ได้แสดงถึงความสามารถในการแข่งขันเพียงอย่างเดียว ต้องดูค่าคะแนนหรือค่าของตัวชี้วัดที่ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาที่ดีขึ้น แม้ว่าประเทศไทยและนานาประเทศต่างพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง แต่ต่างกันตรงที่ประเทศใดจะมีประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืนได้มากกว่ากัน

 

 

***********************************
ติดตามข่าวสารได้ที่

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด